ข่าว

เเฉพฤติกรรมผู้คุม "ไถเงินญาตินักโทษ" แลกอยู่สบายในคุก กว่าจะรู้ตัวถูกหลอก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เเฉพฤติกรรมผู้คุม "ไถเงินญาตินักโทษ" แลกอยู่สบายในคุก เรื่องเเดงเพราะเพื่อนร่วมคุก ออกมาบอกญาติ ล่าสุด กรมราชทัณฑ์มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

กรณี "ไถเงินญาตินักโทษ" แลกอยู่สบายในคุก ซึ่งญาติได้มีการร้องเรียนว่า ถูกผู้คุมเรือนจำ "ไถเงิน" เป็นค่าดูแลนักโทษให้อยู่สุขสบายในคุกนั้น "บุ้งกี๋"  ผู้เสียหาย ได้ให้สัมภาษณ์ในราย "เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล" ถึงรายละเอียดของเรื่องราวว่า เเม่ของเธออยู่ในเรือนจำ เป็นนักโทษอยู่ข้างในทั่วไป เธอได้คุยกับคุณแม่ตอนขึ้นศาลผ่านทางวีดิโอคอล ตั้งเเต่ช่วงเดือนธันวาคม จากนั้นก็ไม่ได้คุยกัน ไม่ได้ติดต่อ จนก่อนเรื่องราวจะถูกเปิดเผย พ่อของเธอมักจะให้โอนเงินไปที่เลขบัญชีหนึ่ง เมื่อถามว่าโอนไปทำอะไร พ่อก็จะบอกว่าให้โอนไปเถอะ โอนไปให้คุณเขา จนถึงล่าสุดรวมแล้ว 7,000 กว่าบาท ซึ่งเป็นเงินที่ให้กับผู้คุมรายนี้ 

 

จนกระทั่งเรื่องนี้ถูกเปิดเผยเมื่อวันวันที่ 19 เม.ย. จากป้าคนหนึ่งชื่อ "ป้าศรี" ซึ่งออกมาจากเรือนจำ เมื่อพ้นโทษออกมาก็โทรหาพ่อของเธอ จากนั้นก็เข้ามาหา แล้วบอกว่าที่ผู้คุมมาขอเงิน อย่าไปให้เพราะเขาโกหก เขาหลอกญาติ ครอบครัวของผู้ต้องขังหลายคนแล้วที่โดนแบบนี้ มีการเรียกเก็บเงิน และจะดูแลข้างในให้อยู่ดีกินดี หางานเบา ๆ ให้ทำ แล้วก็บอกว่าเสื้อแขนยาวที่มาขอเงินพ่อเธอไป 500 บาท จะซื้อเข้าไปให้แม่ แต่แม่ก็ได้ใช้ของหลวงตามปกติ นอกจากนี้ ที่บอกว่าจะให้เเม่ของเธออยู่อย่างสบาย พับถุงกระดาษอันนั้นก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งตัวป้าศรีเองอยู่ห้องขังแดนเดียว และห้องเดียวกับแม่ของเธอในคดียาเสพติดเหมือนกัน

หลังรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น พ่อของเธอกลับกลัวเรื่องความปลอดภัย หากไปเอาเรื่องผู้คุม เพราะเขาน่าจะมีเส้นสายที่ใหญ่โต เเต่ตัวเธอเห็นว่า เอาไว้ไม่ได้ นอกจากนี้ยังทราบข้อมูลจากผู้คุมเรือนจำคนอื่นว่า ญาติสามารถเขียนจดหมายหากันได้ปกติ 1 สัปดาห์ส่งได้ 1 ครั้ง วีดิโอคอลก็ได้ตามปกติ ทำให้เธอรู้สึกอึ้งมาก เพราะผู้คุมไม่เคยให้พ่อส่งจดหมายหาแม่ และไม่ให้แม่ส่งจดหมายหาพ่อ 

 

"ทนายรณณรงค์" แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ระบุว่า จากหลักฐานที่มีสามารถว่าเอาผิดได้ มีการโอนเงิน มีเงินสด มีคลิปเสียง ซึ่งอัตราโทษสูงสุดของการเรียกรับสินบน คือ จำคุกตลอดชีวิต แต่โทษหนักขนาดนี้ ก็ยังกล้าเรียกรับสินบน และเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ยอมไม่ได้ คือ การไปรีดไถกับคนที่เขาหาเช้ากินค่ำ ขับจักรยานยนต์รับจ้าง ให้เขารวบรวมเศษเงินมาให้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก  

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรณีแบบนี้ ส่วนใหญ่ผู้เสียหาย คนที่จ่ายเงินจะไม่กล้ามาเป็นพยาน ไม่กล้าเอาเรื่อง ตอนนี้ป้าศรีก็ไม่กล้ามาเป็นพยานเพราะกลัว  อีกส่วนหนึ่งคือผู้ต้องขังอยู่ข้างใน คนร้องเรียนอยู่ข้างนอก บางทีกฎหมายไม่ได้คุ้มครองการกระทืบกันในคุกเสมอไป หรือเเม้จะมีหลักฐานการทำร้าย แต่หลักฐานบางทีก็ไม่ได้ถูกตีแผ่ อย่างเช่นกรณีนี้ ที่ "บุ้งกี๋" ไม่สามารถติดต่อแม่ได้ตั้ง 4 เดือน และเรือนจำแห่งนี้ เป็นเรือนจำที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ในตะเข็บชายแดนยังทำได้ขนาดนี้ แล้วระบบการตรวจสอบเรือนจำอื่น ๆ ทั่วประเทศ มีการตรวจสอบที่ดีหรือไม่

ด้านนายอายุตม์  สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์  กล่าวว่า อยากให้ทางครอบครัวผู้เสียหายกับผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ลองคุยว่าถ้าทางคุณแม่พึงพอใจจะย้ายไปทัณฑสถานหญิงที่ลาดยาวก็ทำบันทึกเสนอได้ ทางกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณาโยกย้ายให้ หากทางคุณแม่ประสงค์จะอยู่ต่อ ก็ต้องมีความชัดเจน ซึ่งการย้ายเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว สามารถย้ายได้ตามความประสงค์ของญาติ เพื่อความสะดวกในการเยี่ยมและความปลอดภัย 

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังได้ชี้เเจงนโยบายของกรมราชทัณฑ์ว่า มีความชัดเจนเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้ลงโทษทางวินัยไล่ออก  ปลดออกไปหลายราย สำหรับกรณีนี้กรรมการสอบสวนวินัยอยู่ระหว่างสอบสวน คาดว่าแล้วเสร็จจะนำเข้าสู่การประชุม อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ ในรอบหน้าที่จะดำเนินการไล่ออก ซึ่งทางผู้อำนวยการเรือนจำหญิง ได้โทรรายงานมา ทางเรือนจำได้ขยับขยายเจ้าหน้าที่ไม่ให้พบปะกับผู้ต้องขัง มาไว้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง 


โดยวานนี้ กรมราชทัณฑ์ ได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ส่วนโทษทางอาญาก็ต้องดำเนินการแจ้งความไป ถ้าผิด พ.ร.บ.เรื่องทุจริต จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป ส่วนกรณีอื่น ๆ ก็ดำเนินการเหมือนกัน ได้สั่งการไปยังผู้บัญชาการเรือนจำ กรณีถ้ามีเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบแบบนี้อีก ให้รีบแจ้งมาที่ส่วนกลางโดยด่วน เพื่อที่จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด เนื่องจากนี้คนที่ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่มากที่สุด คือ ผู้บัญชาการเรือนจำ ที่ต้องสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชา และส่วนที่ 2 เมื่อทราบพฤติกรรมและพฤติการณ์หากว่ายังจับไม่ได้ด้วยหลักฐานก็ต้องรีบดำเนินการทางลับแจ้งมาที่ส่วนกลางกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการการบริหารงานบุคคล คือ ทางแรกที่มีนโยบาย คือ ให้มาประจำที่ส่วนกลางกรมฯ ไม่ต้องอยู่เรือนจำ ไม่ต้องย้ายเรือนจำไปที่อื่น เพราะว่าทางกรมฯ เน้นเรื่องพออยู่ พอกิน พอประมาณอยู่แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่คนไหนมีความฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเกินตัว ผู้บัญชาการเรือนจำจะต้องดูแลเป็นพิเศษและแจ้งมาทางส่วนกลางกรมฯ 

 

ถ้ามีพฤติการณ์ยังจับไม่ได้ ทางกรมก็มีผู้ตรวจราชการประจำเขต มีรองอธิบดีที่กำกับเขต ต้องลงไปสืบดูว่ามีพฤติการณ์แบบนี้จริงไหม ถ้ามีจริง หรือ ว่าระแคะระคาย หรือ มีเสียงเข้ามา ก็ต้องออกคำสั่งย้ายมาประจำกรมฯ ไม่ต้องอยู่เรือนจำเลย เพราะอยู่เรือนจำ มีสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน ที่มีเงินเพิ่มพิเศษพอเพียงอยู่แล้ว และยังมีสวัสดิการที่ไม่ใช่เป็นตัวเงินอีก เพราะฉะนั้นทางกรมฯ รับไม่ได้ ในเรื่องที่มีเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์แบบนี้ ผมคิดว่าต่อไปคงจะต้องร่วมบริหารงานเรือนจำกับภาคสังคม จะได้มีการตรวจสอบในระบบของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบางทีเจ้าหน้าที่มักไปพบญาติข้างนอก โดยที่ทางเรือนจำไม่ทราบก็มี นัดกันเองบ้างก็มี ถูกหลอกบ้างก็มี


นอกจากนี้ หากญาติของผู้ถูกคุมขังอยากจะติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขัง แนะนำให้พบกับผู้บัญชาการเรือนจำคนเดียวเท่านั้น อย่าไปพบเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่มีหลายฝ่าย สามารถไปพบผู้บัญชาการเรือนจำได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้รับความสะดวก หากติดขัดยังไง ยังมีผู้ตรวจราชการส่วนกลาง สามารถมาติดต่อได้ตลอดเวลา โดยสามารถติดต่อไปได้ที่สำนักงานเลขานุการกรมราชทัณฑ์ที่สามารถตอบข้อมูล หรือ รับเรื่องราวร้องทุกข์ได้ 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ