ข่าว

ราชบัณฑิตยสภาจัดใหญ่ประกวดเล่าเรื่องด้วย "ภาษาไทยถิ่น" 4 ภูมิภาค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง..ราชบัณฑิตยสภาจัดใหญ่ประกวดเล่าเรื่องด้วย "ภาษาไทยถิ่น" 4 ภูมิภาค ดีเดย์ภาคใต้เสาร์ 23 เม.ย. นี้ที่ จ.สงขลา รักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา ศานติ ภักดีคำ ย้ำ หวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รักในภาษาถิ่น ภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เตรียมพร้อมจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วย "ภาษาไทยมาตรฐาน" และ "ภาษาไทยถิ่น" ในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย”ประจำปี 2565 ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยปีนี้เริ่มที่ภาคใต้ จ.สงขลาเป็นแห่งแรกในวันเสาร์ 23 เมษายน 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ โรงแรม ต้นอ้อย แกรนด์ จังหวัดสงขลา   

 

นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ระบุว่า หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาตาม พ.ร.บ.ราชบัณฑิตยสภา  พ.ศ. 2558 ฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ข้อหนึ่งว่ามีหน้าที่ ศึกษา อบรมและพัฒนา "ภาษาไทย" ภาษาถิ่น การอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เป็นการส่งเสริมภาษาไทยให้ปรากฎเด่นชัดยิ่งขึ้น  
   

ราชบัณฑิตยสภาจัดใหญ่ประกวดเล่าเรื่องด้วย "ภาษาไทยถิ่น" 4 ภูมิภาค

 

การจัดประกวดเล่าเรื่องด้วย "ภาษาไทยถิ่น" ไม่ใช่เพิ่งจัด เราก็จัดต่อเนื่องมานานแล้ว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยแบ่งตามภูมิภาคทั้ง 4 ภาคเพื่อให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่รักในภาษาถิ่น ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเขารู้ถึงคุณค่าของภาษาถิ่น เขาก็จะภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง ภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเขา ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในโลกปัจจุบันที่มีรากเหง้าของภูมิปัญญาเพื่อจะต่อยอดก้าวหน้าต่อไปในอนาคต  รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการบัณฑิตยสภา กล่าวย้ำ 
          

อย่างไรก็ตามการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วย "ภาษาไทยมาตรฐาน" และ "ภาษาไทยถิ่น" ในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย"ในปีนี้จะแบ่งการประกวดเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก จะคัดเลือกจากวีดิทัศน์ของแต่ละภาคให้เหลือภาคละ 10 คน ผู้ผ่านรอบแรก พร้อมโรงเรียนจะได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา 
       

ส่วนรอบสุดท้าย ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในแต่ละภาคต้องเล่าเรื่องตามประเด็นเดิมในรอบแรกต่อหน้าคณะกรรมการคัดเลือกของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยการจัดการประกวดรอบสุดท้ายจะเริ่มจากภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565  ณ โรงแรมต้นอ้อย แกรนด์ จ.สงขลา  

ส่วนภาคเหนือ จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565  ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซต์ เชียงใหม่  ภาคอีสาน จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ อยุธยา ต่อไป

 

สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมประกวดแข่งขันเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.1-3)จากโรงเรียนต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วยภาษาถิ่นที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี การละเล่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่หรือบุคคลสำคัญในท้องถิ่นของตน

 

(โรงเรียนที่อยู่ในภาคใต้ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคใต้, โรงเรียนที่อยู่ในภาคเหนือ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ, โรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสาน เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน และโรงเรียนที่อยู่ในภาคกลาง ภาค
ตะวันออก และภาคตะวันตก เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐาน) โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากความสามารถในการใช้ "ภาษาถิ่น" มีเนื้อหาที่ผู้ฟังประทับใจ และมีลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติสมวัย

 

ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 และรองชนะเลิศอันดับ2 จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ