
ชายมะกันชนะคดีฟ้องบริษัทจ่าย 15 ล้าน ปมจัดงานวันเกิดให้ทั้งที่ไม่เต็มใจ
คดีน่าสนใจจากสหรัฐอเมริกา พนักงานฟ้องบริษัทได้ค่าชดเชย 15 ล้านบาท ปมเหตุเริ่มจากการจัดงานวันเกิดให้ทั้งที่บอกแล้วว่าไม่ต้องการ เกรงกระตุ้นโรคตื่นตระหนก (ภาพปก Pexel/Pavel Danilyuk )
คณะลูกขุนที่เมืองเคนตัน รัฐเคนตักกี มีคำตัดสินให้บริษัท แกรวิตี ไดแอกโนสติกส์ จ่ายค่าชดเชยให้กับ เควิน เบอร์ลิง อดีตพนักงาน เป็นเงิน 4.5 แสนดอลลาร์ (ราว 15 ล้านบาท) หลังจากบริษัทจัดปาร์ตี้เซอร์ไพรส์วันเกิดให้เขาเมื่อปี 2562 ทั้งที่เตือนก่อนหน้าแล้วว่า อาจกระตุ้นให้เขาเกิดความเครียดและตื่นตระหนก
คำฟ้องระบุว่า เบอร์ลิง ซึ่งป่วยเป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorders) ขอให้ผู้จัดการอย่าจัดงานฉลองวันเกิดให้เขาในที่ทำงานอย่างที่มักจัดให้กับพนักงานคนอื่น ๆ เพราะอาจทำให้อาการทางจิตเวชที่เป็นอยู่กำเริบ และฟื้นความทรงจำน่าอึดอัดในวัยเด็ก แต่บริษัทยังจัดปาร์ตี้วันเกิดอยู่ดีในเดือนสิงหาคม 2562 ผลตามมาเป็นดังที่หวั่นเกรง เบอร์ลิงเกิดอาการตื่นตระหนก (panic attack) ขึ้นมาจริง ๆ ต้องออกจากงานเลี้ยง และไปนั่งรับประทานอาหารกลางวันในรถ
วันต่อมา เบอร์ลิงแจ้งผู้จัดการว่า รู้สึกผิดหวังที่อีกฝ่ายไม่เคารพความต้องการของเขา แต่กลับถูกตำหนิในที่ประชุม ทั้งถูกกล่าวหาว่า ขโมยความสนุกสนานของเพื่อนร่วมงาน และทำตัวเหมือนเด็กน้อย การประชุมในบรรยากาศตึงเครียด ทำให้อาการตื่นตระหนกเล่นงานรอบสอง บริษัทสั่งให้เขากลับบ้านและหยุดงาน 8-9 ส.ค. จากนั้นสองวัน บริษัทเลิกจ้างเบอร์ลิง อ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย กลัวว่าพนักงานรายนี้จะโกรธและอาจมีพฤติกรรมรุนแรง เบอร์ลิงจึงฟ้องบริษัทเลือกปฏิบัติเพราะความพิการของเขา และแก้เผ็ดเขาอย่างไม่เป็นธรรม
หลังไต่สวน 2 วันเมื่อปลายเดือนมีนาคม คณะลูกขุนตัดสินเข้าข้างเบอร์ลิง และผู้พิพากษาสั่งบริษัทจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ ฐานกระทบกระเทือนจิตใจ 3 แสนดอลลาร์ และค่าจ้างที่เสียไปอีก 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ
จูลี บราซิล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของแกรวิตี ไดแอกโนสติกส์ กล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณ์ยื่นอุทธรณ์ และว่าในฐานะนายจ้างที่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงานเป็นอันดับแรก บริษัทยังยืนยันการตัดสินใจเลิกจ้างเบอร์ลิง ฐานละเมิดนโยบายความรุนแรงในที่ทำงาน “พนักงานของเราคือเหยื่อในคดีนี้ ไม่ใช่โจทก์”
ขณะที่โทนี บูเชอร์ ทนายของเบอร์ลิง บอกสำนักข่าว BBC ว่า ลูกความเป็นโรคตื่นตระหนก แต่ไม่มีหลักฐานเลยว่าเขาเป็นภัยต่อคนอื่นในที่ทำงานจนเป็นเหตุต้องถูกไล่ออก ตัวแทนของบริษัทไม่เข้าใจอาการที่เบอร์ลิงเป็น และการทึกทักว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างเป็นอันตรายโดยไม่มีหลักฐานพฤติกรรมรุนแรง นั่นคือการเลือกปฏิบัติ
ข้อมูลจาก National Alliance on Mental Illness พบว่าชาวอเมริกันกว่า 40 ล้านคน หรือเกือบ 20% ของประชากร มีอาการวิตกกังวล