เช็คเลย ผู้สูงอายุถือ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เตรียมรับเงินสงเคราะห์
เช็คเลย ผู้สูงอายุที่ถือ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เตรียมรับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพประจำปีงบ 2565 จำนวน 50 และ 100 บาท
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ อนุมัติการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ที่มี "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยกรมบัญชีกลางจะดำเนินการโอนงวดแรกในช่วงปลายเดือนเมษายน 2565
สำหรับแนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุ ที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ดังนี้
1. ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุ 100 บาทต่อเดือน
2. ผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่า 30,000 - 100,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุ 50 บาท ต่อเดือน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุ งวดแรกในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งเป็นการจ่ายสำหรับเดือนตุลาคม 2564 - กุมภาพันธ์ 2565 โดยกรมบัญชีกลางแจ้งกำหนดการโอนเงินเข้า "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" งวดแรก ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 และงวดถัดไปจะดำเนินการจ่ายเป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กันยายน 2565
อย่างไรก็ตามในปี 2565 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ สำหรับผู้ถือ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ตรงจุดมากที่และประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนแทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ โดยเบื้องต้นได้กำหนดเกณฑ์ไว้ ดังนี้
- สัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- รายได้ทั้งครอบครัว รวมแล้วไม่เกิน 200,000 บาท
- ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงิน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท
- ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้
- ลงทะเบียนที่จุดรับลงทะเบียนได้แม้ไม่มีโทรศัพท์มือถือ
- ผู้ถือบัตรสวัสดิการเก่า ต้องลงทะเบียนใหม่
- หากถือครองกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินอยู่ จะต้องเป็นบ้านหรือทาวน์เฮาส์ พื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา ส่วนห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร ส่วนกรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรด้วยมีพื้นที่ได้ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ ไม่ใช่เพื่อการเกษตร มีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ