ข่าว

"องค์กรครู" ทวงถาม สถานะ-สิทธิ "ครู" ยังมีอยู่หรือ?

"องค์กรครู" ทวงถาม สถานะ-สิทธิ "ครู" ยังมีอยู่หรือ?

10 เม.ย. 2565

หนึ่งในข้ออ้างแก้ไขกฏหมายแม่บทการศึกษาเพื่อให้เกิด "การปฏิรูปการศึกษา" นั้นเป็นเรื่องไกลตัวพ่อแม่ ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป แต่สำหรับ "ครูและบุคลากรทางการศึกษา" กลับเป็นเรื่องใหญ่ ส่อกระทบ สถานะ-สิทธิ "ครู" ยังมีอยู่หรือไม่ ใน ยุคครูไทยสั่นคลอน?

นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ในฐานะตัวแทน “องค์กรครู” สะท้อนภาพการแก้ไขกฏหมายแม่บทการศึกษาไทย เอาไว้อย่างน่าสนใจ มีใจความดังนี้...การร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “การปฏิรูปการศึกษา” อีกครั้งหนึ่ง ถือว่าเป็นการร่างที่ยาวนานพอสมควร

 

โดยเริ่มตั้งแต่ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สคก.เรื่องเสร็จที่ 334/2562 ต่อมามีการพิจารณาจนเป็นเรื่องเสร็จที่ 488/2564 จนฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเป็นการพิจารณาเรื่องจาก สคก.เรื่องเสร็จที่ 660/2564

ผู้เขียนได้ติดตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยังไม่พบว่าผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้มีการออกมาชี้แจง เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดความมั่นใจว่าสถานภาพและสิทธิของข้าราชการครูฯ จะไม่ได้รับผลกระทบในทางลบ

 

จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเรียกร้องในประเด็นรายมาตราต่าง ๆ ที่เป็นข้อกังกลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในหมวด 3 ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ตั้งแต่มาตรา 32-46 รวมทั้งในบทเฉพาะกาลมาตราต่าง ๆ ยิ่งสร้างความคลางแคลงใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมากในประเด็นที่ว่า

 

“ต่อไปจะยังคงมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่หรือไม่ หรือหากมีอยู่ แต่ยังคงสถานภาพและสิทธิเช่นเดิมหรือด้อยลงกว่าเดิมอย่างไรหรือไม่” ซึ่งที่ผ่านมาการต่อสู้เรียกร้องเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ สคก.เรื่องเสร็จที่ 334/2562 มาตรา 4 มีคำว่า “ครูใหญ่”

-ต่อมามีการต่อสู้เรียกร้องปรากฏใน สคก.เรื่องเสร็จที่ 488/2564 มาตรา 4 จากคำว่า “ครูใหญ่” แก้ไขเป็นคำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” และ

ล่าสุดปรากฏใน สคก.เรื่องเสร็จที่ 660/2564 มาตรา 4 จากคำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แก้ไขเป็นคำว่า “ผู้บริหารสถานศึกษา”

 

-จะเห็นได้ว่าร่างฉบับเดิมพยายามที่จะลดสถานะจาก “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ไปเป็น “ครูใหญ่” หรือไม่ และแม้จะเรียกร้องให้ได้มีการแก้ไขคำ แต่โครงสร้างของร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับ และความยึดโยงสอดคล้องกันในการร่างของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง 

 

-สิ่งนี้เองข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดความคลางแคลงใจว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ผ่าน จนสุดท้ายแล้วได้ประกาศและมีผลใช้บังคับ สถานะและสิทธิของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะยังมีอยู่คงเดิมหรือไม่

 

-หากมีการออกมาเปิดเผยและให้ความเชื่อมั่น โดยมีการแถลงออกมาจากผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาร่าง ณ ขณะปัจจุบันให้เกิดความชัดเจน และมีการอ้างมาตราที่สะท้อนความกังวลดังกล่าว และแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามข้อกังวล ย่อมเชื่อว่าความคลางแคลงใจจะหายไปพอสมควร 

 

-อีกทั้งจะไม่เกิดการตั้งแง่ หรือรอโอกาสเพื่อที่จะเรียกร้องและแสดงความไม่เห็นด้วยในภายหลัง ซึ่งเป็นที่ทราบแล้วว่ากฎหมายบางฉบับที่เคยตราและได้ใช้ไปแล้ว สุดท้ายก็มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไข จึงไม่อยากให้เกิดบรรยากาศเช่นนั้น 

 

"การปฏิรูปการศึกษา" ควรจะเดินไปพร้อมกันและทุกฝ่ายที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายให้การยอมรับ และเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่ถูก ไม่ใช่ดำเนินการตามสิ่งที่ถูกกฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือในภายหลัง

 

หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปลดทอนสถานภาพและสิทธิของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่เดิม หรือจะไปลดทอนผู้ที่จะมาเป็นครูในอนาคต ย่อมกระทบต่อการจัดการศึกษาอย่างแน่นอน อย่าลืมว่าครูเอกชนจำนวนไม่น้อยก็อยากเข้ารับราชการหรือไม่ หากจะมีการมุ่งเน้นให้เอกชนมาจัดการศึกษาหรือไม่ 

 

ต้องถาม "ครูเอกชน" จำนวนไม่น้อยว่า พึงพอใจกับสถานภาพและสิทธิของตนในปัจจุบันอย่างดีพอหรือยัง หรือยังมองว่าจะต้องมีความทัดเทียมกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หากยังมองว่า "ครูเอกชน" จะต้องมีสถานภาพและสิทธิให้ทัดเทียมข้าราชการครูฯ การมุ่งเน้นให้เอกชนมาจัดการศึกษาแทนรัฐหรือไม่ ย่อมไม่ใช่โจทย์ที่ถูกต้องอย่างแน่นอน

 

เพราะ "ครูเอกชน" เองเขาก็ยังขาดอะไรหลาย ๆ อย่าง ที่ผู้เขียนเชื่อก็คือ เขาเองก็มีความน้อยใจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็คือการส่งเสริมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ใช่ไปลดทอนหรือไม่ รวมทั้งยังต้องส่งเสริมครูเอกชนอีกด้วยเช่นกัน

 

ผู้เขียนจึงขอเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้มีคำแถลงยืนยันสถานภาพและสิทธิของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่าจะยังคงอยู่และจะไม่ด้อยลงไปกว่าเดิม