ข่าว

สิ้น "ศ.เสน่ห์ จามริก" นักวิชาการด้าน "สิทธิมนุษยชน" อดีตประธาน "กสม."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ้น "ศ.เสน่ห์ จามริก" อดีตนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตประธาน กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ผู้มีบทบาทในการค้นหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เสียชีวิตลงแล้ว สิริอายุรวม 95 ปี

9 เม.ย.2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก  ราษฎรอาวุโส นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ประธานสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อดีตสมาชิกสถานิติบัญญัติแห่งชาติ และ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ สิริอายุรวม 95 ปี 

 

 

 

 

 

 

 


 

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2470  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เมื่อ พ.ศ. 2491 ระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2500  

 

ด้านประวัติการทำงาน ศาสตราจารย์ เสน่ห์  เริ่มเข้ารับทำงานที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จากนั้น ย้ายมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ  และตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2503 - 2530  ได้เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการ  โดยในปี  พ.ศ. 2516-2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ , พ.ศ. 2518 ร่วมก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ปัจจุบันคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือ สสส.) และได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน  หัวหน้าโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา และหัวหน้าสาขาวิชาการต่างประเทศ

 

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ ยังได้รับ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นอกจากนี้ยังมีบทบาททางด้านการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยหลายด้าน อาทิ  หัวหน้าโครงการวิจัย "พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" ของมูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิเอเชีย ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ,  ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายกสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, กรรมการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

หลังจากเกษียณอายุราชการ ได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายแห่ง งานที่ทำล้วนเน้นหนักไปทางด้านชนบท ชุมชนท้องถิ่น สิทธิมนุษยชน ตำแหน่งสำคัญคือ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในระหว่างปี 2544- 2552

 

 

 

 

 

ด้าน นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์  ได้โพสต์ข้อความ อาลัยในเฟซบุ๊กระบุว่า   "ขอแสดงความเสียใจยิ่ง จากการจากไปของ ศาสตราจารย์​ เสน่ห์​ จามริก ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี​ พนมยงค์ ท่านแรก"


นอกจากนี้ ที่เฟซบุ๊ก "Sulak Sivaraksa ได้โพสต์อาลัย ต่อการเสียชีวิตของ "ศาสตราจารย์ เสน่ห์" ระบุว่า 
 
[ แด่ อาจารย์เสน่ห์ จามริก ]

อาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความสามารถมาก มีความคิดความอ่านมาก และทุ่มเทให้ลูกศิษย์มาก เคยจัดตั้งโครงการพิเศษขึ้นในปี 2512 อย่างโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา สอนให้ลูกศิษย์เรียนเป็นภาษาอังกฤษ และคัดเลือกลูกศิษย์ชั้นดีได้สมความปรารถนา เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สุรินทร์ พิศสุวรรณ ฯลฯ

อาจารย์เสน่ห์เติบโตมากับคุณอาผู้ชายและคุณผู้หญิง เมื่อทั้งคู่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในปี 2514 คุณเสน่ห์เสียใจมาก จนไปบวชอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์ รู้สึกจะพรรษาหนึ่ง 

ต่อมาเมื่ออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2518 ท่านเลือกอาจารย์เสน่ห์เป็นรองอธิการบดี  นอกจากนี้แล้ว เรายังตั้งโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มาด้วยกัน อาจารย์เสน่ห์ก็เป็นกรรมการคนสำคัญ และเมื่ออาจารย์ป๋วยพ้นจากตำแหน่งประธานโครงการนี้ไปแล้ว อาจารย์เสน่ห์ก็มาเป็นประธานมูลนิธินี้คนแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 และดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน 

ในปี 2518 อาจารย์เสน่ห์แต่งงานกับแพทย์หญิงอำนวยศรี (สกุลเดิม ชุตินธร)  ซึ่งเป็นภรรยาที่ดีมาก มีความสุขมาก  

ก่อนละงานด้านสังคมไป อาจารย์เสน่ห์ได้เป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดแรก) ในปี 2544-2552  แต่น่าเสียดายว่า ในตำแหน่งนี้ อาจารย์เสน่ห์บริหารงานได้ไม่ดีนัก เพราะท่านไม่ใช่นักบริหาร ท่านเป็นครูบาอาจารย์

ในช่วงบั้นปลายชีวิต อาจารย์เสน่ห์ก็อยู่กับคุณหมอสองคนตายาย เข้าใจว่าชราภาพครอบงำทั้งสองคน จนกระทั่งเลอะเลือนหลง แต่อย่างน้อยก็อยู่มาได้กว่า 94 ปี จนถึงอายุขัย  

ผมเชื่อว่า ลูกศิษย์ลูกหาทั่วไปเมื่อทราบข่าวมรณกรรมของอาจารย์เสน่ห์แล้ว ทุกคนคงจะรำลึกถึงคุณูปการของอาจารย์เสน่ห์ตราบไปชั่วกาลนาน

ส. ศิวรักษ์
9-4-65

 

สิ้น "ศ.เสน่ห์ จามริก" นักวิชาการด้าน "สิทธิมนุษยชน"  อดีตประธาน "กสม."

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ