ข่าว

ขำไม่ออก..ค่าเฉลี่ย "การศึกษา" แรงงานไทย70% เรียนจบประถมศึกษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ดร.ประสาร" เปิดตัวเลขค่าเฉลี่ย "การศึกษา" แรงงานไทยพบร้อยละ70 เรียนจบระดับประถมศึกษา แนะควรเร่งเพิ่มทักษะและการศึกษา ถึงจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูงในปี 2580

แรงงานไทยกว่า 38 ล้านคน ถือเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน แต่น่าเป็นห่วงเมื่อผลสำรวจพบว่าค่าเฉลี่ย “การศึกษา” ของแรงงานเรียนจบเพียงระดับประถมศึกษา ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน หากต้องการที่จะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง 

 

โดยรายงานของเวิร์ลอิโคโนมิคฟอรั่ม (World Economic Forum) ในปี 2019 สะท้อนว่าไทยมีสัดส่วนของแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 ซึ่งอยู่ในอันดับ 86 จาก 141 ประเทศ ส่วนทักษะของบัณฑิตจบใหม่ อยู่ในอันดับ 79 และคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษา อยู่ในอันดับ 74

โดยในภาพรวมคุณภาพของแรงงานไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลางที่อันดับ 64

 

นอกจากนี้ การสำรวจสถิติแรงงานในประเทศ พบว่าร้อยละ 70 ของประชากรวัยแรงงานมีระดับการศึกษาเพียงประถมศึกษา

 

“จึงเป็นภารกิจของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนายกระดับทักษะและการศึกษาของแรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดทักษะ ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการผลิตของประเทศ และทำให้ประเทศไทยมิอาจก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ได้ภายในปี พ.ศ. 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่วางไว้” ดร.ประสาร ระบุ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในมิติต่างๆ ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ที่มีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ระบบการศึกษาและการเรียนรู้จึงต้องคำนึงถึงและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

 

"แรงงานของไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เกิดปัญหาทางด้านช่องว่างของทักษะแรงงาน (Skill gap) และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ สร้างผลกระทบต่อรูปแบบของงาน การพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานให้ได้ทั่วถึง และต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะแรงงาน" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

 

รมว.ศึกษาธิการ  กล่าวอีกว่า นโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะช่วยยกระดับ "การศึกษา" และทักษะแรงงานไทยสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน เพราะการเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียว ไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่

 

ขอบคุณที่มา : เวทีนโยบาย “โควิด-19: ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)ร่วมกับธนาคารโลก ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน เมื่อวันที่31มี.ค.2565

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ