คืน “ครู” ให้ระบบการศึกษาสู่การเป็นกระทรวงศึกษาธิการ 4.0 ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะใช้ประโยชน์ด้านทะเบียนประวัติ และกระบวนการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “ระบบดิจิทัล” ไม่ต้องจัดทำเอกสาร ลดภาระขั้นตอน มีเวลาทุ่มเทกับการพัฒนาการเรียนการสอน ให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดมีความคืบหน้าในเรื่องนี้
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวระบบระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management System) หรือ ระบบ HRMS พร้อมด้วยระบบการประเมินวิทยฐานะใหม่ (Digital Performance Appraisal) หรือ ระบบ DPA ซึ่งถือเป็นนโยบายการพัฒนาระบบราชการและการบริหารภาครัฐยุคดิจิทัล และเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายให้ส่วนราชการบูรณาการฐานข้อมูลกลาง Big data ด้านการศึกษาให้สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลกันได้อย่างเป็นระบบ
"ดิฉันเห็นว่า สำนักงาน ก.ค.ศ. ในฐานะที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้มอบหมายให้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารงานบุคคลฯ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 "รมว.ศึกษาธิการ ระบุ
รมว.ศึกษาธิการ แจกแจงอีกว่า รวมถึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะใหม่โดยใช้ "ระบบดิจิทัล" เข้ามาช่วยในกระบวนการประเมิน เพื่อแก้ปัญหาระบบการประเมินแบบเดิม ลดภาระเกี่ยวกับงานเอกสารการประเมิน
"รวมถึงกระชับเวลาในการประเมินเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้สื่อสารสร้างความเข้าใจให้แก่ "ครู" มาอย่างต่อเนื่อง "รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดทำระบบ HRMS และระบบ DPA ไม่เพียงเป็นการจัดทำฐานข้อมูลครูทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาครูมืออาชีพอีกด้วย
“ดิฉันเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะช่วยให้ครูลดภาระ ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย และสามารถใช้เวลาทุ่มเทให้กับการพัฒนาการเรียนการสอน รวมถึงช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเกิดจากการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างทักษะกระบวนการคิดขั้นสูงให้แก่นักเรียน เพื่อพัฒนาสมรรถนะและความสามารถสำหรับเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี"นางสาวตรีนุช กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ "ระบบดิจิทัล" ยังช่วยสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการประเมินวิทยฐานะ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อครูและการศึกษาของไทยทั้งระบบ โดยการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการและจะช่วยให้ "ครู" รวมถึงระบบการศึกษาไทยในภาพรวมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง