ข่าว

"กกต." เตือนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.-เมืองพัทยา หวั่นถูกดำเนินคดีภายหลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กกต." เตือนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.-เมืองพัทยา ตรวจสอบคุณสมบัติให้ดีก่อนลงสมัคร อย่าเอาสนุกเข้าว่า หวั่นถูกดำเนินคดีภายหลัง เผยหลายเลือกตั้งที่ผ่านมา คุณสมบัติไม่ครบเพียบทั้ง ส.ว. ส.ส. อบจ. แนะระวังการสัญญาว่าจะให้-ขนคนไปเลือกตั้ง

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ "กกต." แถลงข่าว ข้อควรรู้เพื่อนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา รวมพลังสุจริต ใช้สิทธิอย่างโปร่งใส พร้อมใจไปเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษ ดูจากการโหมโรงตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงเวลานี้ผู้สมัครมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

 

ขณะที่พรรคการเมืองก็ส่งผู้สมัครกันหลายพรรคแต่ความพิเศษนี้ก็จะมีความ
สลับซับซ้อนในการหาเสียงโดยเฉพาะที่หลายพรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงด้วย ต้องระมัดระวัง พร้อมย้ำเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครว่า "กกต." จะตรวจสอบในส่วนที่มีข้อมูลอยู่ในฐานของรัฐ ด้วยการขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ 20 กว่าหน่วย แต่บางข้อมูลไม่มีในฐาน

 

ดังนั้นตามกฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัครรับรองตัวเอง หากตรวจเจอในภายหลังก็จะถูกดำเนินคดีทางอาญา ส่วนการหาเสียงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการหาเสียง เพราะถึงแม้จะหาเสียงนอกเวลาราชการ ก็ถือว่าผิด เช่น นายอำเภอ มีญาติเป็นผู้สมัคร และไปรับประทานอาหารเที่ยง แล้วบอกคนอื่นว่าขอให้เลือกน้องชายของตนเองนั้น แบบนี้สามารถทำได้ แต่หากนายอำเภอ เรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านเพื่อบอกให้เลือกผู้สมัคร ก็จะถือว่าผิด 
 

นายแสวง กล่าวอีกว่า เมื่อปิดหีบแล้วตรวจสอบพบว่า ผู้แสดงตนมาใช้สิทธิกับจำนวนบัตรเท่ากัน แต่นับคะแนนกลับต่างกัน ก็ต้องนับคะแนนใหม่ แต่หากผู้มาแสดงตนใช้สิทธิกับจำนวนบัตรไม่ตรงกัน อาจเกิดจากคนนำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้งหรือเหตุอื่น ๆ แต่ทำให้บัตรหายไปกรณีนี้ต้องลงคะแนนใหม่ซึ่งจะต่างจากกรณีแรก ทั้งนี้หากข้อเท็จจริงตรวจสอบแล้วพบต้นเหตุว่ามีที่มาที่ไป เช่น มีการฉีกบัตรเลือกตั้ง ทำให้จำนวนบัตรไม่ตรงกัน ก็ไม่ต้องนับคะแนนหรือลงคะแนนใหม่ 

 

ด้าน น.ส.มาณวิกา ทองประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า เป็นห่วงผู้สมัครที่ต้องเตรียมหลักฐานให้ครบ รวมถึงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี และต้องรู้เท่าทันเรื่องการจัดให้มีขบวนแห่ต่าง ๆ การจัดเลี้ยงกองเชียร์ในวันสมัคร ถือเป็นการจัดมหรสพซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

 

นอกจากนี้ "กกต. กทม." ได้ประสานกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เขตละ 3 คน รวมทั้งหมด 150 นาย ดูแล 50 เขตใน กทม. เพื่อป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

 

ขณะที่ ร้อยตำรวจตรี ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการดำเนินการสืบสวน ข้อห้ามในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยยอมรับว่าเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา มีการกระทำความผิดมากมาย บางครั้งก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งหลายเรื่องมีโทษหนักมากและมีหลายข้อหาถึงขั้นจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-600,000 บาท ตัดสิทธิเลือกตั้งถึง 20 ปี

 

จึงขอฝากไปถึงผู้สมัครว่า หากรู้ว่าไม่มีคุณสมบัติแล้วยังสมัคร ถือว่ามีความผิด ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองให้ดี สมัครแล้วห้ามถอน อย่าคิดว่า มีเวลา มีเงิน มีพวก แล้วชวนกันไปสมัครเอาสนุกเข้าว่า เพราะหากคุณสมบัติไม่ครบ ก็จะมีประวัติถูกดำเนินคดีติดตัวไปด้วย พร้อมเผยว่า มีผู้สมัคร ส.ว. กว่า 300 คน ขาดคุณสมับติ , ผู้สมัคร ส.ส. 200 คน , ผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น 3 ประเภท ยังไม่รวบรวม แต่คาดดำเนินคดีอีก 1,000 คน

 

ขณะเดียวกันให้ระวังการทำความผิด เช่น ให้-สัญญาว่าจะให้ , จัดรถรับส่งไปเลือกตั้ง , จัดให้มีเล่นพนันเลือกตั้ง เพราะมีโทษหนัก ทั้งนี้เรามีห้องปฏิบัติงานข่าวสืบสวนสอบสวน เมื่อได้รับแจ้งเหตุจะเเจ้งต่อไปยังชุดเคลื่อนที่เร็วซึ่งมี 52 ชุด ออกตรวจตราต่อไป และหากใครมีเบาะแสและหลักฐาน ก็สามารถแจ้งมายัง "กกต." หรือ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดได้เพื่อดำเนินการจับกุมต่อไป หากสามารถเอาผิดได้จริง ก็จะมีเงินรางวัลนำจับด้วย หรือจะส่งผ่านแอพฯ ตาสับปะรด ก็ได้แต่ต้องแสดงตัวตนด้วย เพราะที่ผ่านมามีคนก่อกวน ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง พร้อมย้ำเตือนประชาชนว่า การซื้อเสียง ไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน

 

ฝากสื่อเรื่องการเสนอข่าวที่นำเสนอเฉพาะผู้สมัครบางคน เนื่องจากบางคนไม่ดังขอให้มีความเสมอภาค เชิญใครมาสัมภาษณ์ก็ขอให้เท่าเทียม สม่ำเสมอ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ