
"เพื่อไทย" ทวง "ปฏิรูปตำรวจ" เกินหนึ่งปี ไม่มีความคืบหน้า
"ปฏิรูปตำรวจ" ไม่คืบหน้า 5 คณะกรรมการที่ "นายกรัฐมนตรี" ตั้ง ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน "เพื่อไทย" งัดรัฐธรรมนูญทวง
อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทวงปฏิรูปตำรวจ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีโดยระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2557 วันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในขณะนั้น ประกาศอย่างขึงขังที่จะปฏิรูปกิจการตำรวจ และได้บรรจุการปฏิรูปวงการตำรวจไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยในมาตรา 258 (ง ) กำหนดเรื่องการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และยังระบุในมาตรา 260 ระบุว่า ให้เร่งดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ภายใน 1 ปี ในระหว่างทางได้เกิดสารพัดคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นมาพิจารณาการปฏิรูปตำรวจ ไม่ต่ำกว่า 5 คณะ
ได้แก่ 1. คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในช่วงเดือนตุลาคม 2557
2.คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในปี 2558
3.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ปฏิรูปตำรวจ) ในปี 2560 ( พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน
4.คณะกรรมการแก้ไขร่างกฏหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในเดือนมีนาคม ปี 2561(นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน)
5.คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในเดือนมีนาคม 2562 (นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน)
แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 5 ปีแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปตำรวจยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กำลังกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 260 ระบุว่า ‘ให้เร่งดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมภายใน 1 ปี’ เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยมุ่งมั่นจะปฏิรูปตำรวจในช่วงแรกที่ฉีกรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แรงจึงแผ่วลง ทั้งที่แบกความรับผิดชอบต่อหน้าที่ภายใต้หมวกนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีมากกว่าหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทั้งยังไม่เคยเร่งรัดให้การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเร่งฟื้นคืนศรัทธาประชาชนในระบบยุติธรรมที่คนไทยอยากเห็น เพราะทุกวันนี้พี่น้องประชาชนตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของตำรวจ ผู้ผดุงความยุติธรรมเป็นอย่างมากว่า ได้ทำหน้าที่สุดความสามารถแล้วหรือไม่ ทำงานคุ้มค่ากับภาษีที่จ่ายไปหรือไม่ และยิ่งเกิดคดีความของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ตำรวจมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบหาพยานหลักฐาน พยานบุคคล ยิ่งมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่าง บอสกระทิงแดง หมอกระต่าย จนมาถึงกรณีของแตงโม ประชาชนเกิดคำถาม ตั้งข้อสงสัย ช่วยกันหาหลักฐาน ช่วยกันส่งเสียงไม่อยากให้คดีเงียบหายไป ช่วยกันเป็นหูเป็นตา มองข้ามที่จะพึ่งพาระบบไปแล้ว ดังนั้นความมุ่งหวังของประชาชนคือ อยากเห็นการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนครบวาระการเป็นรัฐบาล โดยควรทำงานให้ประชาชนมองเห็นเป็นรูปเป็นร่าง มีผลงานที่จับต้องได้บ้างเสียที ฟื้นความเชื่อมั่นประชาชนโดยเร็ว