ข่าว

เกมถ่วง "โรงไฟฟ้า" ขยะชุมชน รัฐ-เอกชน-ประชาชน มีแต่เสีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โครงการกำจัดมูลฝอยไม่สามารถประสานการทำงานได้ระหว่างกระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าของโครงการ ซึ่งดำเนินงานภายใต้พ.ร.บ.รักษาความสะอาดของบ้านเมือง ตามวาระแห่งชาติแก้ปัญหา "ขยะ" ล้นเมือง กับกระทรวงพลังงาน

      

น่าแปลกใจที่การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการกำจัดมูลฝอยไม่สามารถประสานการทำงานได้ระหว่างกระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าของโครงการ ซึ่งดำเนินงานภายใต้พ.ร.บ.รักษาความสะอาดของบ้านเมือง ตามวาระแห่งชาติแก้ปัญหาขยะล้นเมือง กับกระทรวงพลังงาน ซึ่งต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ  

โครงการนี้ถือว่ามีความล่าช้ายาวนานหลายปี ยิ่งกระทรวงพลังงานในสมัยปัจจุบันนี้ กลับมีการให้ทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามรูปแบบ FiT (Feed-in-Tariff) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนทั้งระบบ โดยส่งผ่านทางมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปศึกษาทบทวนอัตรารับซื้อใหม่ จนทำให้ทั้ง 32 โครงการของกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านขั้นตอนตามระเบียบราชการแล้ว จำนวนไฟฟ้าที่เสนอขายเข้าระบบ 272.98 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งส่งรายชื่อให้ทั้งกระทรวงพลังงาน และ กกพ. ทราบแล้ว ติดขัดไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ปริมาณขยะจากหลุมฝังกลบที่กองล้นทั่วประเทศจึงไม่ได้รับแก้ไขตามไปด้วย 

     

การให้ทบทวนอัตรา FiT นั้น กระทรวงพลังงานอ้างว่าเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เกิดภาระต่อประชาชน แต่ทุกฝ่ายทราบดีว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภทมีต้นทุนการผลิตที่สูง รัฐจำเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานสะอาดและสอดรับกับนโยบายพัฒนาพลังงานของโลกที่นานาประเทศร่วมมือกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกที่มาจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งจาก แสงอาทิตย์ ชีวมวล ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะชุมชน ล้วนผ่านโปรแกรมการสนับสนุนในรูปแบบอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ตามรูปแบบเก่า และการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ FiT ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ในปัจจุบัน โดยภาระที่เกิดขึ้นจากการรับซื้อไฟฟ้าในระบบถูกสะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น ทั้งเข้าไปในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) และค่าไฟฟ้าฐาน

ดังนั้น การที่กระทรวงพลังงานให้ทบทวนอัตรา FiT เพียงโรงไฟฟ้าขยะชุมชนดังกล่าวจึงอาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และยังส่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากให้ใช้ฐานการคำนวณค่าเงินเฟ้อใหม่ ทำให้รายได้จากการขายไฟฟ้าบวกอัตราเงินเฟ้อลดลง และยังได้นำอัตราใหม่ขออนุมัติจากกพช.เมื่อปลายปี 2564 เพื่อเปลี่ยนแปลงมติกพช.ปี 2560 ที่กำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) อัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย โดยกำหนดให้อัตรารับซื้อในส่วนของ FiT V หรือต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core Inflation)

       

โดยมติ กพช. ปี 2560 ที่ได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนไว้ และทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ใช้เป็นฐานการคัดเลือกผู้ประกอบการให้มาดำเนินงานทั้งสิ้น 32 โครงการ โดยเฉพาะ 2 โครงการ SPP ขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการนำขยะผลิตไฟฟ้า ณ  ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็นโครงการที่ได้ลงนามทำสัญญากับภาคเอกชนไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ทั้งที่ทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงมติ กพช. ปี 2560 จะสร้างความเสียหายให้ทุกภาคส่วน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกลับเดินหน้าโดยไม่รับฟังเสียงของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการที่โครงการถูกเตะถ่วงมาตลอดตั้งแต่ปี 2560 แม้กระทั่ง กพช. จะมีมติใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่ผ่านมากว่า 5 เดือนโครงการก็ยังเดินหน้าไม่ได้  

จึงเป็นที่มาของความไม่ลงรอยระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงาน รวมถึงปัญหาบานปลายที่นำมาสู่การเตรียมฟ้องร้องเอาผิดของภาคเอกชน จากการกระทำและคำสั่งที่ส่อไปในทางไม่ชอบด้วยกฎหมายของกระทรวงพลังงาน เทียบได้กับคดีการฟ้องร้องของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน  ตามมาตรา 36 ของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชนพ.ศ.2562 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหัวข้อการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค และการเงิน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการคัดเลือกเอกชน โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการ ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 พิพากษาว่ากรณีนี้เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ที่สำคัญกว่านั้น การเตะถ่วงโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนของกระทรวงพลังงาน ไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่สร้างความเสียหาย ทั้งรัฐบาลที่ไม่สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาขยะล้นเมืองได้เบ็ดเสร็จ และไม่สามารถบอกนานาประเทศได้เต็มปากเต็มคำว่า ไทยมีส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อนตามที่ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ส่วนภาคเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกแต่เดินหน้าโครงการไม่ได้ ก็ได้รับผลกระทบรายวันจำนวนมหาศาล ที่สำคัญประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ปัญหาขยะก็สะสมต่อไป 

การไม่สามารถทำงานอย่างบูรณาการได้ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพลังงานครั้งนี้ จึงเป็นที่เคลือบแคลงในวงการพลังงานว่าเหตุผลใดกันแน่ที่ทำให้สองกระทรวงประสานงานไม่ลงตัว และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ควรเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองหรือไม่ เพราะการปล่อยให้โครงการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าถูกลากยาวออกไป ก็เท่ากับนโยบายที่รัฐบาลประกาศให้การบริหารจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติล้มเหลว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ