ข่าว

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ฮวงจุ้ยท้องมังกร

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ฮวงจุ้ยท้องมังกร

06 มี.ค. 2553

ผมพาคณะข้ามทะเลไปเกาะเหมยโจว เพื่อสักการะเจ้าแม่ทับทิม (ไฮ้ตังม่า) ณ ยอดเขาที่ท่านลอยขึ้นสวรรค์ บนเรือข้ามฟาก คุณสง่า ไกด์หนุ่มชาวจีนถามผมว่า อาจารย์เคยไปเที่ยว ศาลเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ที่ซัวเถาหรือไม่ ผมตะลึง ถามคุณสง่าว่า ศาลเดียวกับที่ศาลเล่งบ๊วยเอี๊ยะที่เย

 สำหรับ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ที่ตรอกอิสรานุภาพ ถนนเยาวราช คุณวิศิษฏ์ ลิ้มประนะ ประธานประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมศาลเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ผู้ดูแลศาลถวายรายงานว่า ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะสร้างเมื่อปี พ.ศ.2201 พร้อมกับการกำเนิดชุมชนคนจีนที่สำเพ็ง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

 ตัวอาคารศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ สร้างด้วยฝีมือชาวจีนแต้จิ๋วจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน ถูกหลักฮวงจุ้ย ซีเตี้ยมกิม (สี่จุดทองคำ) จึงทำให้ ตรอกอิสรานุภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนเยาวราช ที่เปรียบฮวงจุ้ยเป็นตัวมังกร ตรอกอิสรานุภาพก็เป็นส่วนท้องมังกร ซอยเล็กๆ เชื่อมถนนเยาวราชกับถนนเจริญกรุง ยาวประมาณ 500 เมตรแห่งนี้ เป็นแหล่งขายวัตถุดิบอาหารการกินของชาวจีน

 ภัตตาคาร ร้านอาหาร และโรงแรม ที่ขายอาหารจีนทั่วประเทศ ต้องมาสั่งซื้อของสดของแห้งที่นี่ จนทำให้ เล่งบ๊วยเอี๊ยะ เป็นดัชนีชี้วัดและกำหนดราคาวัตถุดิบอาหารทุกชนิด เป็นศูนย์กลางการค้าที่วัดได้ว่า เศรษฐกิจประเทศไทยดีหรือไม่ในแต่ละปี ตึกแถวในตรอกอิสรานุภาพ ขณะนี้ซื้อขายกันถึงห้องละ 24 ล้านบาทขึ้นไป แพงกว่าอาคารพาณิชย์ย่านสุขุมวิท หรือสีลม เสียอีก

 สำหรับร้านค้าที่เป็นหลักให้ชาวเล่งบ๊วยเอี๊ยะ คือร้าน ง่วนสูน กลางตรอกอิสรานุภาพ เป็นร้านจำหน่ายเครื่องเทศทุกชนิด และจำหน่าย พริกไทยตรามือ มากว่า 60 ปี ชาวเล่งบ๊วยเอี๊ยะทำมาค้าขายจนเหนื่อย จะมาขอนั่งพักผ่อนที่ร้านง่วนสูน มีน้ำชาเย็นๆ ให้ดื่ม มีข้าวต้มและกับข้าวให้กินตลอดทั้งวัน

 ชาวชุมชนเล่งบ๊วยเอี๊ยะจึงมีความรักสามัคคีกันมาก และเป็นชุมชนตัวอย่างที่ชาวต่างชาติขอเข้ามาศึกษาถึงชีวิตความเป็นอยู่ แม้แต่รัฐบาลจีนยังให้ สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (CCTV) มาบันทึกภาพ เพื่อรายงานเรื่องราวชีวิตคนจีนในเมืองไทย ให้ชาวจีนที่เมืองจีนรู้ว่า ตรอกนี้คือ ไชน่าทาวน์ ที่ใหญ่ที่สุด รวยที่สุดในโลก

 25-29 พฤษภาคมนี้ ผมจะพาไปกินขนมกุ้ยช่าย ท้อก้วย แล้วไปไหว้ตั่วเล่าเอี้ย ไต่ฮงกง ที่ซัวเถา ไหว้เจ้าแม่ทับทิมที่เกาะเหมยโจว เจ้าแม่กวนอิมที่เซียะเหมิน โทร.08-7504-8141
แอนฮวา เป็ดพะโล้เวียดนาม

 คุณวิภาวดี ลิ้มประนะ เล่าให้ผมฟังว่า มีลูกค้า 2 สาวพี่น้องเชื้อสายเวียดนาม มาซื้อเครื่องเทศที่ร้านง่วนสูน เอาไปทำเป็ดพะโล้ขายข้างวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ผมจึงไปตามจนเจอร้าน แอนฮวา เป็ดพะโล้เวียดนาม มี 2 สาวพี่น้องช่วยกันทำเป็ดพะโล้ เพื่อหารายได้เลี้ยงหลาน

 คุณสิริกร พานศิริกุล เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อเกิดสงครามเดียนเบียนฟู พ่อกับแม่ต้องหนีภัยสงครามจากกวางบินห์ เมืองเว้ มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่บนแผ่นดินไทยที่ จ.นครพนม คุณแอนฮวา (ชื่อเวียดนาม) เล่าว่า แม่เคยทำงานอยู่ในสถานกงสุลฝรั่งเศสที่เวียดนาม จึงมีฝีมือในการทำอาหารฝรั่งเศสได้อร่อย เช่น ไก่งวงหัน หมูทรงเครื่อง ต้มเนื้อวัว เป็ดหัน

 ชาวเวียดนามที่มาอยู่เมืองไทยสมัยนั้น ยังใช้ภาษาและวัฒนธรรมตามธรรมเนียมจีน พอถึงวันตรุษจีน แม่จะทำเป็ดพะโล้ไหว้เจ้าทุกปี เป็ดพะโล้สูตรเวียดนามของแม่อร่อยมาก แม่ฝึกให้ลูกทุกคนทำกินเอง คุณแอนฮวาจึงนำสูตรเป็ดพะโล้ของแม่มาทำขาย หารายได้เลี้ยงหลานๆ ผมพาแม่มะลิไปดูวิธีการต้มเป็ดพะโล้ร้านนี้แล้ว ต้องยอมรับว่าสูตรและวิธีการต้มเป็ดพะโล้เก่าแก่จริงๆ

 เครื่องเทศต่างๆ ใช้ใกล้เคียงกับการต้มเป็ดพะโล้ของคนจีน แต่น้ำต้มเป็ดพะโล้ คุณแอนฮวา บอกว่า ต้มมาตั้งแต่สมัยแม่ ยังเก็บไว้เป็นหัวเชื้อต้มเป็ดพะโล้จนถึงทุกวันนี้ หลังร้านจึงมีหม้อต้มเป็ดพะโล้ใบใหญ่ น้ำต้มเป็ดพะโล้หอมกรุ่น ต้มเสร็จต้องใช้ฝาสเตนเลสปิดมิดชิด แล้วล่ามด้วยโซ่ให้แข็งแรงป้องกันแมลง และป้องกันไม่ให้ใครใส่อะไรลงไปอีก
 
 ด้วยวิธีการต้มเป็ดพะโล้แบบเวียดนาม ใช้เวลาในการต้มนานถึง 1 ชั่วโมง จึงทำให้น้ำเป็ดพะโล้ซึมเข้าไปถึงในเนื้อและกระดูกเป็ด เนื้อเป็ดพะโล้จึงมีสีคล้ำ แต่หอมอร่อยมาก ผิดกับเป็ดพะโล้สมัยใหม่ที่เรียงขายตามริมถนน ใช้วิธีการนำเป็ดสดจุ่มลงไปต้มกับน้ำพะโล้สักพัก เพื่อให้หนังเป็ดเป็นสีน้ำตาลเหมือนน้ำพะโล้ แต่พอสับเนื้อเป็ดมากิน จะเห็นว่าเนื้อเป็ดยังขาวซีดอยู่ โดยเฉพาะน้ำราดเป็ดพะโล้ คุณแอนฮวา ใช้น้ำพะโล้ต้มเป็ดมาเคี่ยวต่อ ให้มีความหอมและไม่เค็มจนเกินไป ราดกินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยครับ

 ร้านแอนฮวาเป็ดพะโล้เวียดนาม อยู่ตรงข้าม สน.โพธิ์แก้ว ข้างวัดไร่ขิง

"อ.ไชยแสง กิระชัยวนิช"