
"แพ็กซ์โลวิด" รักษาโควิด สธ.ชงเข้าครม. จัดซื้อสำหรับรักษาโควิด 50,000 คอร์ส
"แพ็กซ์โลวิด" ยารักษาโควิด สธ.ชงเข้าครม. พรุ่งนี้ขอจัดซื้อเติมคลังยาอีก 50,000 คอร์สการรักษา เผยปัจจุบันไทยมียารักษาโควิด 5 ตัว แบ่งใช้ตามกลุ่มอาการ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทาง การจัดซื้อ "แพกซ์โลวิด" ยารักษาโควิด เพื่อนำเข้ามารักษาผู้ป่วย ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยกำลังจะนำ "แพกซ์โลวิด" ซึ่งผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์ เข้ามา เนื่องจากเป็นยาที่มีผลการศึกษาวิจัยว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล (รพ.) และการเสียชีวิตได้ดีมาก ซึ่งพรุ่งนี้ (22 มี.ค. 64) คาดว่าจะมีการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้งบประมาณจัดซื้อ "แพกซ์โลวิด" จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา โดยหากผ่านความเห็นชอบแล้ว คาดว่าวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อต่อไป โดยบริษัทผู้ผลิตระบุว่าหลังจากลงนามแล้วจะพร้อมส่งสินค้าภายใน 1 สัปดาห์ จึงคาดว่าประเทศไทยจะมียาแพกซ์โลวิดใช้รักษาผู้ป่วย ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยมี ยารักษาโควิด ประมาณ 5 ตัว สำหรับแนวทางการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด19 มีดังนี้
1.กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้รับประทานยา
2.กลุ่มป่วยอาการน้อย และไม่มีภาวะเสี่ยง เช่น ไข้ไม่สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ จะรักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น
3.กลุ่มป่วยอาการน้อยแต่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากเป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคร่วม 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน กลุ่มนี้จะให้ยาโมลนูพิราเวียร์
4.ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบ จะให้ยาเรมดิซิเวียร์
สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลการศึกษาว่าหากให้ยาเร็วก็จะป้องกันอาการรุนแรง และทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ ส่วนยาเรมดิซิเวียร์มีข้อจำกัด คือเป็นยาที่ใช้ฉีด ต่างจากยาตัวอื่นๆ ที่เป็นยากิน ขณะที่ยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดก็จะมีเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์ ในส่วนของการผลิตในประเทศก็จะมีเพียงยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้เอง แต่ทาง อภ.ก็จะจัดหายาโมลนูพิราเวียร์จากผู้ผลิตในอินเดียเข้ามาเพิ่มเติมต่อไป