ข่าว

"ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา" สร้างรายได้มั่นคงสู่เกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาส่งเสริมการผลิต “เมล็ดพันธุ์ดี” ให้มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างรายได้มั่นคงสู่เกษตรกร

เมื่อถึงฤดูกาลทำนา แน่นอนว่าการมี "เมล็ดพันธุ์ดี" เป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ เป็นการลงทุนน้อยแต่สามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตให้สูงขึ้นได้ กรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เป็นหน่วยงานหลักในการผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว" เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และกระจายเมล็ดพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร โดยการส่งเสริมและพัฒนาการ "ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว" ในท้องถิ่นผ่านศูนย์ข้าวชุมชนหรือนาแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถต่อยอด สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาต่อไปในอนาคต และสร้างรายได้อย่างมั่นคงสู่ครัวเรือน

 

นายกฤษฎิน คำตัน ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เปิดเผยว่า "เมล็ดพันธุ์ดี"หมายถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ และที่สำคัญคือจะให้ผลผลิตต่อไร่สูง แล้วก็ข้าวเปลือกมีคุณภาพดี อีกทั้งมีความต้านทานต่อโรคแมลงต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานในเรื่องของโรคไหม้ และ"เมล็ดพันธุ์ดี"จะต้องมีมาตรฐานในเรื่องของความงอก พันธุ์ปน ข้าวแดง หรือความชื้นที่อยู่ในมาตรฐานของคุณภาพ "เมล็ดพันธุ์" ในการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ดีในศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาก็จะมีกระบวนการในการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะสามารถแบ่งขั้นตอนในการผลิตเมล็ดพันธุ์เป็น 6 ขั้นตอน

"ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา" สร้างรายได้มั่นคงสู่เกษตรกร

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนที่เราจะปลูกข้าวหรือทำแปลงขยาย "พันธุ์ข้าว"เราจะต้องมีการวางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้า มีการสำรวจข้อมูล ความต้องการของเกษตรกร ระยะเวลาความต้องการ แล้วก็ชนิดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการ

 

ขั้นตอนที่ 2 คือจัดทำแปลงขยายพันธุ์ในส่วนนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีพื้นที่นาในการจัดทำแปลงต้องอาศัยกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว"เป็นผู้ผลิตให้ศูนย์ฯ โดยในการทำแปลงจะมีข้อตกลงกับเกษตรกรว่าในการจัดทำแปลงเกษตรกรต้องยอมรับคำแนะนำในการปฏิบัติดูแลแปลงขยายพันธุ์เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ตรงตามมาตรฐานที่กรมการข้าวกำหนด และไม่นำเมล็ดพันธุ์ไปขายให้บุคคลภายนอก

"ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา" สร้างรายได้มั่นคงสู่เกษตรกร

ขั้นตอนที่ 3 การปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" เป็นการยกระดับและกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปจากเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวมาจากแปลงพันธุ์ ซึ่งได้แก่ วัชพืช เมล็ดพันธุ์อื่น เมล็ดเป็นโรค เศษหิน ดิน ทรายต่างๆ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน

"ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา" สร้างรายได้มั่นคงสู่เกษตรกร

ขั้นตอนที่ 4 การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ หลังจากที่บรรจุถุงข้าวแล้วเสร็จ จะต้องไปเก็บรักษาในโรงเก็บ "เมล็ดพันธุ์" ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ป้องกันกำจัดโรคแมลง เพื่อรอให้เมล็ดพันธุ์พ้นระยะพักตัวจึงจะส่งต่อหรือขายให้กับเกษตรกร

 

ขั้นตอนที่ 5 การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพ "เมล็ดพันธุ์" การควบคุมคุณภาพเราจะทำตั้งแต่ก่อนการจัดซื้อ พอรถบรรทุกข้าวเปลือกมาถึงที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ก็จะทำการสุ่มเพื่อวัดความชื้น ตรวจหาพันธุ์ปน ข้าวแดง และสิ่งเจือปนเมื่อผ่านมาตรฐานแล้วเราถึงจะเอามาเข้าในโรงงานเพื่อการปรับปรุงสภาพต่อไปฉะนั้นขบวนการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนการผลิตจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่จำหน่ายไป เป็นล็อตไหน คุณภาพเป็นอย่างไร เมื่อเกษตรกรเอาไปปลูกแล้วก็จะสามารถติดตามผลได้

 

ขั้นตอนที่ 6 การตลาดเมล็ดพันธุ์ ก็คือการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน อันดับแรกจำหน่ายให้กับส่วนราชการในส่วนของราชการก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ก็คือ หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความต้องการ "เมล็ดพันธุ์" ดีไปในการทำกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ศูนย์ก็จะจำหน่ายให้กับส่วนราชการเป็นอันดับแรก

 

อันดับที่ 2 ก็คือ เมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งกรมการข้าวจะสำรองไว้สำหรับช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะฝนแล้ง น้ำท่วม เมล็ดพันธุ์ตัวนี้ก็จะถูกกันไว้เพื่อช่วยเกษตรกร หลังจากที่เหลือแล้วก็จะเป็นโครงการจำหน่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป ที่จะสามารถมาซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ที่ศูนย์ เพื่อไปใช้สำหรับปลูก หรือในส่วนที่อยู่ห่างไกลศูนย์เองก็จะมีตัวแทนจำหน่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มาซื้อเมล็ดพันธุ์ไปจำหน่าย กระจายให้สู่เกษตรกรที่ไม่มียานพาหนะหรือว่าห่างไกลได้ใช้เมล็ดพันธุ์อย่างทั่วถึง

 

ปัจจุบันการผลิต"เมล็ดพันธุ์ดี" มีกฎหมายสำหรับเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลชาวนาให้มีโอกาสเลือกใช้เมล็ดพันธุ์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นแล้ว หากมีการควบคุมอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ตามที่เหมาะสมกับวิธีปลูกตามที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาแนะนำ ก็สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของชาวนา ลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าว รวมถึงส่งผลต่อรายได้ของชาวนาที่จะมีผลตอบแทนจากผลผลิตข้าวในแปลงนาที่มากขึ้นอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ