แนะรัฐ "ควบคุมราคาสินค้า" ชะลอปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย รับ "ภาวะสงคราม"
รัฐบาลต้องเร่งสร้างรายได้ ดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่า "ควบคุมราคาสินค้า" ให้ปรับเพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป รับวิกฤติ "ภาวะสงคราม"
สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแนะรัฐบาลควบคุมราคาสินค้า ที่จะขึ้นตามภาวะสงคราม โดยใช้งบประมาณอุดหนุน เพื่อให้ประชาชนค่อยๆ รับกับราคาใหม่ได้ ด้วยการลดรายได้จ่ายด้านการจัดซื้ออาวุธและลดภาษีน้ำมันลงรวมแล้วประมาณสองแสนล้านบาท เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน และให้ประชาชนใช้เงินที่เขาหามาเองได้มากขึ้น รัฐบาลต้องรีบสร้างรายได้ให้ประเทศด้วยการเปิดระบบเศรษฐกิจ, เปิดการท่องเที่ยว เพื่อประชาชนจะสามารถหารายได้มากขึ้น ดูแลค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ ไม่แข็งจนเกินไป จนไม่มีคนซื้อสินค้าเรา แต่ไม่อ่อนเกินไป จนไปลดฐานะความเป็นอยู่ของคนไทย
ทั้งนี้เพื่อให้การส่งออกและท่องเที่ยวเติบโตมากขึ้น ได้เงินตราต่างประเทศมาแล้ว สามารถแลกเป็นเงินบาทได้มูลค่าสูงขึ้น ในภาวะสงคราม สินค้าจะขายได้ดี เมื่อประเทศไทยได้เงินตราต่างประเทศจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น จะไปเพิ่มการจ้างงาน, เพิ่มรายได้คนทั่วประเทศ, เพิ่มการบริโภค, เพิ่มการออมและการลงทุน ซึ่งจะไปเพิ่มการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization) ของไทยที่ยังต่ำอยู่ประมาณ 65-75% เท่านั้น
รัฐบาลยังต้องปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำต่อวัน จาก 300 บาท เป็น 500 บาท เพื่อให้คนจนมีรายได้เพียงพอ ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยรัฐให้สิ่งจูงใจ, ให้การลดหย่อนภาษี เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้เทคโนโลยี่ที่สูงขึ้น เช่นที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายเช่นเดียวกันนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน
แต่ภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนที่สูงขึ้น รัฐต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะจะทำให้ เงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกและท่องเที่ยวลดลง ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะทำให้ GDP ลดลง แม้ประเทศตะวันตก อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดเงินเฟ้อ จะทำให้ดอกเบี้ยโลกสูงขึ้น อาจทำให้เงินไหลออกจากตลาดทุนและตลาดทรัพย์สินของไทยไปบ้าง แต่หากเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามทันที เงินบาทก็จะอ่อนค่าลง ทำให้การส่งออก และ GDP เพิ่มขึ้น เงินตราต่างประเทศ ก็จะไหลกลับเข้ามาในตลาดทุน ในที่สุด