ข่าว

รมช.มนัญญา หนุนสร้าง "คนรุ่นใหม่กลับบ้าน" สานต่ออาชีพการเกษตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รมช.เกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ หนุนสร้างคนรุ่นใหม่กลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตรหลังดำเนิน "โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ" ครบ 2 ปี ยืนยันทำการเกษตรมั่นคงอยู่ได้ครอบครัวเข้มแข็ง

"โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน" สานต่ออาชีพการเกษตร เกิดจากความริเริ่มของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อสนับสนุน "เกษตรกรรุ่นใหม่" กลับไปถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อประกอบอาชีพการทำเกษตรได้อย่างมั่นคง มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว

 

เนื่องจากเห็นว่าในปัจจุบัน"เกษตรกร "ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป จึงต้องเร่งสร้าง "เกษตรกรรุ่นใหม่" ที่มีความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่และมีใจรักการทำเกษตรได้กลับสู่บ้านเกิดเพื่อสืบสานอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรรวมทั้งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่านทางกองทุนพัฒนาสหกรณ์หรือผ่านทางการกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 

ปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและได้รับการสนับสนุนจำนวน  3,000 กว่าราย และสหกรณ์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรรุ่นใหม่ในโครงการกว่า 700 แห่ง  และส่วนใหญ่ได้เริ่มดำเนินการตามแผนการ
ผลิตและมีรายได้จากภาคการเกษตรแล้ว

รมช.มนัญญา หนุนสร้าง "คนรุ่นใหม่กลับบ้าน" สานต่ออาชีพการเกษตร

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า "โครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ" นับแต่เริ่มโครงการมากว่า 2 ปี มีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการแล้ว 3,670 คน ปี 2565  ตั้งเป้าจะพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่อีกประมาณ850 คนซึ่งแม้มีจำนวนไม่มากแต่พบว่ากลุ่มเกษตรกรเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่กลับไปสร้างความเข้มแข็ง ให้บ้านเกิดและเป็น"เกษตรกรรุ่นใหม่"ที่มีการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งที่ผสานกับเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทั้งการผลิต และการตลาดอีกทั้งจะเป็นแรงงานทดแทนเกษตรกรไทยที่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย ซึ่งแต่ละปีจะมีการสำรวจผลสัมฤทธิ์โครงการโดยในปี 2564 สำรวจแปลงเกษตร 500  ราย พบว่ามีรายได้จากภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า  โดยพบว่าก่อนเข้าร่วมโครงการมีรายได้  7,451 บาทต่อคนต่อปี หลังเข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ย 10,098 บาทต่อคนต่อปี    

รมช.มนัญญา หนุนสร้าง "คนรุ่นใหม่กลับบ้าน" สานต่ออาชีพการเกษตร

โครงการนี้ไม่ได้ใช้เงินเป็นหลัก แต่ใช้การสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้เยาวชน คนรุ่นใหม่มองเห็นว่า การเกษตรก็เป็นอาชีพที่มั่นคงได้หากมุ่งมั่นตั้งใจ และย้ำในเรื่องการทำน้อยได้มาก      

รมช.มนัญญา หนุนสร้าง "คนรุ่นใหม่กลับบ้าน" สานต่ออาชีพการเกษตร

แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่เข้าโครงการนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้ามาช่วยเหลือในการเป็นพี่เลี้ยงประสานหน่วยงานเข้ามาให้ความรู้แนะนำการทำการเกษตรทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน พร้อมทั้งมีสหกรณ์ในพื้นที่คอยสนับสนุนหาตลาดรับซื้อผลผลิตและจัดหาเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์และพันธมิตรอย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับ "เกษตรกร"ที่เข้าโครงการนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความยั่งยืนภาคการเกษตรของไทยในอนาคต นางสาวมนัญญา กล่าว

รมช.มนัญญา หนุนสร้าง "คนรุ่นใหม่กลับบ้าน" สานต่ออาชีพการเกษตร

จากการดำเนินโครงการดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 2 ปี ได้มีการประเมินและวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ใช้ใจทำงานมากกว่าใช้เงินทุ่มลงไปในโครงการ เกษตรกรทั้ง 2 คนนี้จะตัวอย่างที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ของการกลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดว่า 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากได้เข้าร่วมโครงการ ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอย่างไร

 

นายนัฐนันท์ ประเสริฐสกุล เกษตรกรในโครงการลูกหลานกลับบ้าน จ.ชุมพร กล่าวคำแรกว่า สมัครเข้า "โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน" กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาด้วยเหตุผลเดียวคือต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และต้องการมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพราะด้านการเกษตรกรมีพื้นฐานมาบ้างแล้วจากการเรียนและการลงมือทำตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา หลังจากจบปริญญาตรีจากลาดกระบัง สาขาพืชสวน ก็กลับบ้านเพื่อทำการเกษตรที่พ่อแม่ทำอยู่ก่อนหน้าในพื้นที่ 37 ไร่  ปลูกกล้วย ทุเรียน ส้มโชกุน มะละกอ เป็นเกษตรปลอดภัยในสวนไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า สำหรับปุ๋ยทำเองตามสูตรต่าง ๆที่มีการเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน ผลผลิตทั้งหมดขายส่งในตลาด
ชุมพร  

 

ชอบที่สุดที่เข้าโครงการคือการได้รับความรู้ใหม่ ๆ เทคนิคใหม่ ๆ และได้เครือข่ายใหม่ทั้งภาคเกษตร เอกชนและภาคราชการ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเกษตรยุคใหม่  การต่อยอดการเกษตรต้องเข้าใจระบบตลาดให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อต่อยอดธุรกิจของตนเอง มากกว่าการผลิตเพื่อขายราคาขั้นต่ำเท่านั้น ผมไม่อยากขายผลผลิตในราคาขั้นต่ำเพราะมั่นใจว่าของเราดี  ต้องขายได้ราคาที่เป็นธรรม”

 

นายนัฐนันท์ กล่าวว่า การทำการเกษตรต้องมีการวางแผนว่าตลาดต้องการอะไร โดยเฉพาะตลาดใกล้บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดค่าขนส่ง ก็พบว่า ที่ชุมพรกล้วยน้ำว้าที่ไร้เมล็ดมีไม่เพียงพอ ต้องซื้อจากจังหวัดราชบุรี ตนเองนำพันธุ์ปากช่อง 50 มาปลูก ผลคือแม่ค้าในพื้นที่เหมาสวนล่วงหน้า  รายได้เฉพาะขายกล้วยอยู่ในช่วง15,000-30,000 บาทต่อเดือน ตามจังหวะราคาตลาด

 

ปัจจุบันเริ่มวางแผนปลูกทุเรียนคุณภาพในพื้นที่ 3 ไร่ เพิ่มเติมจากที่ปลูกอยู่แล้วโดย 3  ไร่นี้จะใช้เมล็ดทุเรียนบ้าน ซึ่งเป็นต้นที่มักออกนอกฤดูมาเป็นต้นหลักเพื่อเสียบกิ่งทุเรียนหมอนทองพันธุ์ดี เพราะหวังว่าหากมีผลผลิตออกนอกฤดูจะขายได้มากกว่าราคาซื้อขายในตลาด  สำหรับระยะการปลูก 9X4.5 เมตร ระหว่างต้นปลูกแซมด้วยกล้วยน้ำว้า  ส้มโชกุน    เพื่ออาศัยน้ำด้วยกัน เป็นการลดต้นทุนสวนไม้ผลเหล่านี้เป็นกลุ่มไม้ธนาคารที่จะให้ผลผลิตเก็บกินระยะยาว  

 

ส่วนผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวคือกล้วยและมะละกอ ยืนยันว่า รายได้จากการทำการเกษตรสามารถอยู่ได้ สำหรับครอบครัวและคนงานอีก  2 คน  นอกจากนั้นสำหรับตนเองมีรายได้จากเงินเดือนที่เป็นพนักงานประจำอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่ารายได้จากการเกษตร มากกว่างานประจำ ทั้งนี้การทำงานยึดหลักการวางแผนการผลิตเป็นหลักทำให้ลดต้นทุน ลดความเสียหายของผลผลิตและสินค้าออกมาตามวันเวลาที่วางแผน

 

นางสาววลัยรัตน์ ปานตั๊น   อายุ 43 ปี เกษตรกรจังหวัดราชบุรี ดีกรีปริญญาโท ม.กรุงเทพ   กล่าวว่ากลับมาอยู่บ้าน  เมื่อปี 2563 และสมัครเข้า"โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ" เป้าหมายที่กลับบ้านคือต้องการอยู่ดูแล พ่อและแม่ที่อายุเพิ่มมากขึ้น กลับมาทั้ง 3 คนพี่น้อง ตนเองจึงสมัครเข้าโครงนี้ หลังอบรม 1 ปีเริ่มวางแผนปลูกพืช ทำการเกษตรแบบจริงจัง  เมื่อต้นปี 64 จากเดิมที่พ่อทำสวนมะพร้าวน้ำหอมไว้แล้วในเนื้อที่ 6  ไร่เศษ โดยได้นำความรู้จากการอบรม การดูงานของโครงการมาปรับใช้คือการวางแผนผลิต การทำบัญชี โดยดูตลาดในพื้นที่ว่าเขาต้องการอะไร

 

การเริ่มต้นของเราสามพี่น้องคือวางแผนว่าอะไรทำได้ง่ายและขายได้เร็ว จึงเริ่มเลี้ยงเป็ดอี้เหลียง ที่ดูจากอินเตอร์เน็ตว่าเลี้ยงง่าย ตายยาก ประกอบกับที่บ้านเป็นท้องร่องสวนจึงเริ่มเลี้ยงเป็ดเพียง 3 ตัว จากนั้นสามารถขยายได้เป็น 50 ตัว ผลผลิตที่ขายคือไข่เป็ดที่มีเชื้อผ่านระบบออนไลน์ทุกช่องทางในชื่อของบ้านสวนปานตั๊น เพื่อให้ลูกค้านำไปฟักเป็นตัวซึ่งได้รับการตอบรับมาก โดยอาหารที่เลี้ยงจะใช้เศษต้นกล้วยและผักในสวนเป็นอาหาร

 

นอกจากนั้นไปอบรมเลี้ยงปุ๋ยมูลไส้เดือนกลับมาเริ่มลงทุนเพียง 2 พันบาทซื้อไส้เดือนมาเลี้ยงเพื่อเอามูลทำปุ๋ยจำหน่าย ก็ได้รับการตลอดรับที่ดี ผลผลิตที่ออกมากเช่นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะขาม มะม่วงหาวฯ ก็มีการนำแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นการถนอมอาหาร ในสวนทุกอย่างจะไม่ทิ้ง ทุกอย่างนำมาแปรรูปได้ทั้งหมด และขายผ่านระบบออนไลน์ช่วยได้มากเพราะลูกค้าลดเวลาเดินทางเมื่อเขามั่นใจเรายิ่งสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ปัจจุบันครอบครัวอยู่ได้สบาย ๆ และมีเวลานั่งกินข้าวด้วยกันทุกวันทั้งพ่อแม่และน้อง ๆ 

 

สำหรับการหารายได้นั้น ครอบครัววางแผนปลูกผักเพื่อจำหน่ายให้ร้านค้า ร้านอาหารตามสั่ง  ร้านข้าวแกงในพื้นที่ใกล้เคียง ที่จะไปสอบถามว่าใครต้องการอะไรเท่าไหร่ และนำมาวางแผนผลิตและการส่ง ทำให้มีรายเป็นรายวันทุกวัน อีกทั้งสวนผักจะไม่ใช้สารเคมี จะใช้เพียงปุ๋ยที่ผลิตเอง และน้ำปุ๋ยมูลไส้เดือนทำให้ผักสดกรอบและลูกค้าต่างบอกว่าผักมีรสชาติอร่อย และเก็บไว้ได้นานกว่าผักที่ซื้อจากตลาด

 

เช่น ถั่วฟักยาว มะเขือ ที่ลูกค้าจะชอบมากจึงทำให้ผักไม่พอจำหน่าย กำลังจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม ปัจจุบันสามารถขายได้วันละกว่า 1,000 – 2,000 บาท  ปัจจุบันมีลูกค้าเห็นในเพจเพิ่มขึ้น เสาร์ อาทิตย์ จึงมีลูกค้าเดินทางมาเที่ยวที่สวนอีกด้วย  ในอนาคตวางแผนปลูกไผ่ซึ่งในพื้นที่ไม่มีใครปลูกเพื่อขายเป็นหน่อไม้ อีกทั้งเป็นพืชอายุยาวปลูกครั้งเดียวให้ผลผลิตกว่า 20 ปี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ