อ.เจษฎ์ ชี้อันตราย "กัมมันตภาพรังสี" หวั่นสงครามพาซ้ำรอย "เชอร์โนบิล"
รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ ชี้ ให้เห็นถึงความอันตรายของ "กัมมันตภาพรังสี" จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล
รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (อ.เจษฎา) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เกี่ยวกับประเด็น ความอันตรายของ "กัมมันตภาพรังสี" โดยโพสต์ทั้งหมดระบุดังนี้
เรียนรู้อันตรายจากกัมมันตภาพรังสี จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล จากกรณีที่กองทัพรัสเซียบุกเข้าโจมตีและยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริชเชีย ที่เมืองเอเนอร์โฮดาร์ ประเทศยูเครน ได้สำเร็จ โดยมีการยิงปืนใหญ่ใส่
จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น และทำให้สังคมโลกตระหนักถึงผลกระทบของสงครามที่อาจจะทำให้เกิด "อุบัติเหตุนิวเคลียร์" ขึ้นได้ซึ่งการที่เราจะประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดตามมาจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์นั้น สามารถเอาบทเรียนสมัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อเกือบ 35 ปีก่อนมาดูแนวทางได้ ดังนี้ครับ
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์วลาดิมีร์ เลนิน) เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2529
- บางแหล่งข้อมูลระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 2 รายในการระเบิดครั้งแรก ขณะที่แหล่งอื่น ๆ รายงานว่าตัวเลขดังกล่าว เกือบแตะ 50 คน
-วันที่ 27 เมษายน ประชาชนชาวปริเปียตกว่า 30,000 คนเริ่มอพยพ รัฐบาลโซเวียตพยายามปกปิดข่าวการระเบิด แต่ในวันต่อมา สถานีเฝ้าระวังของประเทศสวีเดน รายงานว่าระดับกัมมันตภาพรังสีในอากาศสูงกว่าผิดปกติ ทางรัฐบาลโซเวียตจึงได้ออกมายอมรับ
- การระเบิดได้เกิด ขี้เถ้าปนเปื้อน "กัมมันตภาพรังสี" ที่รั่วไหลเข้าสู่ในอากาศนานเกือบ 2 สัปดาห์ สารกัมมันตภาพรังสีจำนวน 50-185 ล้านคิว หลุดออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ในญี่ปุ่นหลายเท่า
- ฝุ่นกัมมันตรังสี ยังถูกพัดตามลมเหนือ ไปยังประเทศเบลารุส และยูเครน ทำให้ยูเครนและเบลารุส ต้องอพยพฉุกเฉิน พาประชาชนกว่า 300,000 คนออกจากพื้นที่ และประกาศเป็นเขตอันตราย
- กระแสลมพัดไกลออกไปจนปกคลุมไปทั่วทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ไกลถึงฝรั่งเศสและอิตาลี ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 1 ล้านคน
- มีผู้คนจำนวนมากป่วยจากการอาบรังสีร้ายแรง ซึ่งบางคนเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากนั้น 1 ปี มีเหยื่อเป็นพันคนเสียชีวิต เพราะป่วยเป็นมะเร็ง
- เด็กที่เกิดมา มียีนกลายพันธุ์ และคนจำนวนมากพิการ จนเมืองพริเพียต (ที่ตั้งของโรงไฟฟ้า) ถูกทิ้งร้าง จากการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีในปริมาณสูง
- พื้นที่ป่าและพื้นที่เพาะปลูก หลายล้านเอเคอร์ ปนเปื้อน และแม้ผู้คนหลายพันคนจะอพยพออกไป แต่ยังมีอีกหลายแสนคนยังคงอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อน
ภายหลังการระเบิด พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า “ป่าแดง” เนื่องจากต้นไม้จำนวนมากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และตายลง หลังจากดูดซับ "กัมมันตภาพรังสี" ในระดับสูง
ในปีต่อ ๆ มา ปศุสัตว์จำนวนมากเกิดมาพิการ และสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยในรัศมี 30 กิโลเมตร ตายเร็วมากขึ้น
- เมื่อ พ.ศ. 2535 เด็กในยูเครนป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า
- ค้นพบหลักฐานของการเกิดต้อกระจก และโรคผิวเผือกมากขึ้น
- มีการพบสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมยาวนาน ประเมินว่า ถ้าจะลดกัมมันตรังสีจนทำให้ผู้คนอาศัยอยู่ได้ตามปรกติ จะต้องใช้เวลากว่า 20,000 ปี !!
- ปัจจุบัน เบลารุสมีพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีประมาณ 23% สูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 1 ใน 5