ข่าว

ศาลยกฟ้อง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" ชี้ธุรกิจไม่ทำความเสียหายกับ "การท่องเที่ยว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" ชี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจให้เกิดความเสียหายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือ ประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยว

3 มี.ค.2565  ศาลอาญา  ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ  ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ3 เป็นโจทก์ฟ้องนายสมเกียรติ  คงเจริญ  อายุ 63 ปี กก.ผจก.บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด , นางธวัล แจ่มโชคชัย อายุ 65 ปี กก.ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล, บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด, นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 32ปี กก.ผจก บจก.โอเอฯ , บริษัท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยเฮิร์บ จำกัด, บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท รอยัลพาราไดซ์ จำกัด, นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี อายุ 67ปี กรรมการผู้จัดการทั้งสี่บริษัท ซึ่งเป็นมารดาของนายวสุรัตน์, นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี อายุ 66 ปี สามีนางนิสา, บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด, น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 41 ปี กรรมการผู้มีอำนาจ บจก.บ้านขนมทองทิพย์ซึ่งเป็นบุตรของนายธงชัย และนายวินิจ จันทรมณี อายุ 75 ปี กก.ผจก บริษัทซินหยวน ทราเวลจำกัดเเละ บริษัทฝูอันฯ เป็นจำเลยที่ 1-13 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 

 

 

 

ศาลยกฟ้อง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ"  ชี้ธุรกิจไม่ทำความเสียหายกับ "การท่องเที่ยว"

 

 

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 มี.ค  - 31 ส.ค. 2559 ต่อเนื่องกัน บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวโดยไม่เสียค่าบริการ หรือที่เรียกว่า  "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" จากนั้นบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด จำเลยให้ใช้รถบัสจำนวน 2,500 คัน รับนักท่องเที่ยวฟรี โดยเป็นผู้กำหนดแผนการเดินทางให้มัคคุเทศก์และผู้ขับขี่นำรถไปจอดให้นักท่องเที่ยวแวะซื้อสินค้าจากร้านในเครือเดียวกับบริษัท โอเอฯ  ซึ่งสินค้ามีราคาแพงกว่าท้องตลาดหลายเท่า แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เป็นการขูดรีดนักท่องเที่ยว ไม่เป็นการแข่งขันเสรีทางการค้า อำพรางแบ่งปันผลประโยชน์ โดยบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด แบ่งปันผลประโยชน์ให้บริษัททัวร์ 30-40  %  ให้มัคคุเทศก์ 3-5 % มีพฤติกรรมลักษณะเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ ปกปิดวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของนักท่องเที่ยวศูนย์เหรียญชาวจีน จนเกิดความ เสียหายมูลค่า 98 ล้านบาทเศษทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย
   

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด

 

ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ให้ลงโทษปรับเฉพาะ จำเลยที่ 1,2เเละ 13 รายละ5 แสนบาท ตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเเละมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 24,82 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น    จำเลยที่ 1,2 และ 13 ยื่นฎีกา 

 

สำหรับคดีนี้ ศาลอาญาเลื่อนอ่านคำพิพากษา ศาลฎีกามาแล้ว 2 ครั้งเนื่องจาก ทนายความไม่สามารถติดต่อนายสมเกียรติ จำเลยที่1 รวมทั้งไม่สามารถส่งหมายนัดให้จำเลยที่1 ได้   อย่างไรก็ตาม ในวันนี้จำเลยทุกคนเดินทางมาศาล

 

 

ศาลยกฟ้อง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ"  ชี้ธุรกิจไม่ทำความเสียหายกับ "การท่องเที่ยว"

 

 

 

ทั้งนี้ ศาลฎีกา พิจารณาแล้ว เห็นว่า ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของพวกมีลักษณะ ร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยเป็นการตกลงกันเข้าลักษณะเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมีความมุ่งหมายเพื่อหารายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมา ซื้อสินค้าแล้วนำรายได้มาแบ่งปันผลประโยชน์กัน การกระทำร่วมกันของจำเลยทั้งสิบสาม จึงเป็นการร่วมกันปกปิดวิธีดำเนินการแก่นักท่องเที่ยว เป็นการดำเนินธุรกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือ นักท่องเที่ยวนั้น 

 

ศาลยกฟ้อง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ"  ชี้ธุรกิจไม่ทำความเสียหายกับ "การท่องเที่ยว"

 

 

เห็นว่าที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวล้วนเป็นการคาดคะเนเอาเองของโจทก์โดยใช้เพียงข้อมูลที่เกิดจากการรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้มาของเจ้าพนักงาน ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งไม่ใช่พยานโดยตรง  ตรงกันข้ามทางพิจารณา กลับได้ความว่าจำเลยที่ 1,3 เเละที่ 13  ต่างประกอบธุรกิจนำเที่ยว ส่วนจำเลยที่ 3-12 ประกอบกิจการการขนส่งคนโดยสารเพื่อให้เช่ารถโดยสาร จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และของที่ระลึก รวมทั้งธุรกิจร้านอาหาร จำเลยที่1,3และที่ 13 เคยเช่ารถโดยสารจากผู้ประกอบกิจการการขนส่งรายอื่นด้วย แม้ต่อมาจะ เปลี่ยนเป็นเช่ารถโดยสารจากจำเลยที่ 3 แล้วพานักท่องเที่ยวไปที่ร้านค้าในเครือของจําเลยที่ 3 นอกจากเป็นไปตามโปรแกรมที่กำหนดแล้วยังเป็นการประกอบธุรกิจในลักษณะ เป็นพันธมิตรและเป็นธุรกิจต่างตอบแทนกันดังเช่นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวรายอื่นและเมื่อจำเลยที่ มิได้เป็นผู้ร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวของจำเลย จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวหา ประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยว

 

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลย เป็นสมาชิกของ คณะบุคคลใด มีวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายใดที่ปกปิดเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายอย่างใด จึงไม่เป็น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ด้วย สำหรับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น แม้ไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐาน เป็นเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำ ความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ก็ตาม 

 

พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาแตกต่างขัดแย้งกันในสาระสำคัญ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังได้ว่า พยานหลักฐาน จำเลยทั้ง13  และฎีกาของโจทก์ในรายละเอียดประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกา ยังไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1,2 เเละ13 ฟังขึ้น 

 

พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ 1,2 เเละ 13 ในความผิด ตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551มาตรา 24,82ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ