ข่าว

กสม. ชง สตช. กำชับเจ้าหน้าที่เคร่งครัด ปมไม่คืน "ของกลาง" 14 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กสม. แนะ สตช. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หลังมีผู้ร้องถูกยึด"ของกลาง"และไม่ได้รับคืนกว่า 14 ปี

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 7/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

 

 

1.กสม. มีข้อเสนอแนะต่อ สตช. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดปฏิบัติตามระเบียบในการรักษาทรัพย์ของกลางในคดีอาญาอย่างเคร่งครัด หลังมีผู้ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์สินและไม่คืนกว่า 14 ปี

 

 

เมื่อเดือนกันยายน 2564 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องขังรายหนึ่ง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี กล่าวอ้างว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จับกุมในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

 

 

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดทรัพย์สินไว้เป็น "ของกลาง" ในคดีอาญาหลายรายการ เช่น สร้อยคอทองคำ แหวนทองคำ พระเลี่ยมทอง สมุดบัญชีเงินฝาก สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ และอาวุธปืนสั้น ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ริบทรัพย์สินดังกล่าว และ ผู้ร้องได้ติดต่อขอรับคืนทรัพย์สินแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับคืน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ได้พิจารณาคำร้องและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้วเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) มีหนังสือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี แจ้งผลการตรวจสอบรายการทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกจับกุม

 

 

โดยระบุยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงไม่มีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ร้อง ประกอบกับศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้ให้ญาติติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี เพื่อขอรับคืน "ของกลาง" แล้วหลายครั้ง

 

 

แต่ทรัพย์สินดังกล่าวได้สูญหายไป ซึ่งในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอชดใช้ค่าเสียหายบางรายการเป็นเงินจำนวน 160,000 บาทแต่มีทรัพย์สินบางรายการ คือ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ที่ผู้ร้องยังไม่ได้รับคืนด้วย

เรื่องนี้ กสม. เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องไม่ได้รีบดำเนินการส่งคืน "ของกลาง" ให้แก่ผู้ร้องภายในเวลาอันควร และต้องให้ผู้ร้องติดตามทวงถามและร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่น ๆ จึงยอมขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง แต่ก็เป็นการชดใช้ค่าเสียหายภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบและเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี

 

 

นับแต่วันที่สำนักงาน ป.ป.ส. มีคำสั่งไม่ตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คืนรายการทรัพย์สินแก่ผู้ร้องด้วย การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เ

 

 

ป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหายอันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 37 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 และไม่เป็นไปตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15  บทที่ 1 ข้อ 415 ที่กำหนดไว้

 

 

กสม. เห็นว่า กรณีดังกล่าวนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องจึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยให้ สตช. ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหาย

 

 

กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดทั่วประเทศที่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ของกลางในคดีอาญาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญา พร้อมกันนี้ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไปด้วย

 

 

2. กสม. แนะกรมโรงงานอุตสาหกรรม แก้ไขระเบียบรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการออกใบอนุญาตโรงงาน หลังชาวสตูลร้องไม่ทราบข้อมูลการขอตั้งโรงงานแอสฟัลท์ติกคอนกรีตในพื้นที่

 

 

ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกันยายน 2564 จากผู้ร้องซึ่งกล่าวอ้างว่า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตแอสฟัลท์ติกคอนกรีตต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ผู้ถูกร้อง ได้ปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานของบริษัทดังกล่าว

 

 

ซึ่งครบกำหนดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 แต่ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงกลับไม่เคยรับทราบเรื่องมาก่อน เพิ่งมาทราบเรื่องจากเอกสารการประชุมของอำเภอท่าแพเมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ประชาชนจึงได้ร่วมกันคัดค้าน เนื่องจากหากอนุญาตให้มีการประกอบกิจการโรงงานอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพอนามัย และวิถีชีวิตของประชาชนที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์

 

 

อีกทั้งบริษัทได้ดำเนินการปรับพื้นที่และถมดินสูงผิดปกติโดยที่ไม่มีการประเมินผลกระทบและอาจปิดกั้นทางน้ำสาธารณะ ผู้ร้องเห็นว่าการปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลและไม่ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ที่กฎหมายกำหนด จึงขอให้ตรวจสอบ

 

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ได้พิจารณาคำร้องและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายรับฟังได้ว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ผู้ถูกร้อง ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 และได้ปิดประกาศ ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล รวมทั้งมีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวไปปิดยังอำเภอท่าแพ องค์การบริหารส่วนตำบลแป-ระ และสถานที่ขออนุญาตตั้งโรงงาน โดยผู้ถูกร้องไม่ได้ติดตามว่าหน่วยงานดังกล่าวปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบทุกแห่งและครบระยะเวลาปิดประกาศหรือไม่

 

 

ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ดำเนินการโดยผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และไม่สอดคล้องกับการรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน กสม. จึงเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแอสฟัลท์ติกคอนกรีตของบริษัท มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ

 

 

ในการนี้ เพื่อให้สิทธิของบุคคลและชุมชนได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กสม. จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนี้

 

 

(1) กำหนดวิธีปฏิบัติหรือแนวทางการดำเนินการสำหรับหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่จะตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการติดตามการปิดประกาศรับฟังและผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปยังหน่วยงานสถานที่ปิดประกาศตามที่กฎหมายกำหนด โดยมุ่งเน้นให้ดำเนินการปิดประกาศให้ถูกต้องครบถ้วนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด อันเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

 

(2) พิจารณาปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบอนุญาตขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยนอกจากกำหนดให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่จะตั้งโรงงานดำเนินการปิดประกาศเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรงงานแล้ว

 

 

ควรกำหนดให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการ รวมทั้งแสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ยื่นคำขอประกอบกิจการกับประชาชนได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ