ข่าว

"กะเพราอวกาศ" ก้าวเล็ก ๆ ของคนไทยสู่เทคโนโลยีอวกาศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลายคนมีคำถามว่า "กะเพราอวกาศ" ทำแล้วได้อะไร แค่นำอาหารไทยไปออกสื่อต่างประเทศ หรือแค่สร้าง Content แปลก ๆ ... แต่เชื่อหรือไม่ว่า "กะเพรา" จานนี้แหละ จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ

เพื่อ !?! ...  ทำไปทำไม ... เป็นคำถามที่ออกจากปากใครหลายคนเมื่อเห็นข่าวกิจกรรมที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับรายการ Retired working for you ทดลองส่ง "ผัดกะเพรา" ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วย บอลลูน High-altitude

คำตอบคือ ... เพื่อสร้างโอกาส

โอกาสของนักวิจัยไทยและการริเริ่มสู่ความเท่าเทียมในการทดลองห้วงอากาศสูง เติมเต็มแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศของประเทศไทย ให้ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดิน ภาคอากาศ และภาคอวกาศ หรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ ให้เป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วตอนนี้ รวมถึงสร้างการต่อยอดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต

จากการติดตามพิกัดบอลลูน มันได้นำอาหารขึ้นชื่อของคนไทยทะยานสู่ห้วงอากาศไปจนถึงความสูงประมาณ 35 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ได้ตามเป้าหมาย (เครื่องบินพานิชย์บินที่ความสูงประมาณ 10-12 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก) และด้วยความแตกต่างของแรงดันอากาศ ทำให้บอลลูนระเบิดและตกสู่พื้นโลกในเวลาไม่นานนัก 

แม้ทุกอย่างจะเกิดขึ้นแล้วจบลงอย่างรวดเร็ว แต่รายละเอียดระหว่างการเตรียมงานมาแรมปี ตั้งแต่เริ่มต้นเจรจา ออกแบบ  สรรหา ตั้งค่าอุปกรณ์ การคัดสรรสถานที่ปล่อย รวมถึงการปฎิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันอันตรายต่ออากาศยานอื่น ๆ

ทั้งหมดนี้จะเป็นต้นแบบของการสนับสนุนงานทดลองและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศโดยภาครัฐในอนาคต  เพื่อโอกาสในการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือที่เรียกว่า แพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูน (High-Altitude Experiment Platform)

แพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงสำคัญอย่างไร ?

แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองงานวิจัยในอวกาศ (Space Experiment Platform) ของประเทศไทย ที่ริเริ่มโดย GISTDA ภายใต้โครงการ National Space Exploration (NSE) มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อสนับสนุนการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศให้แก่นักวิจัยไทย อาทิ การทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศบนภาคพื้นดิน มีบริการห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) ตั้งอยู่ในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ส่วนการทดลองในภาคอวกาศ มีบริการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติผ่านพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

หนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศสำหรับประเทศไทย คือ การบริการส่งการทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อให้เกิดการตกผลึกบนอวกาศและนำกลับลงมาวิจัยพัฒนาบนโลกเพื่อเป็นยาต้านมาลาเรีย ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่าง GISTDA  สวทช. ไบโอเทค และองค์กรอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) 

ทั้งนี้ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ก็มีสภาวะใกล้เคียงกับสภาพความเป็นอวกาศ ประกอบกับการส่งงานทดลองขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูน มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าส่งไปยังสถานีอวกาศฯหลายเท่า จึงนับว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะใช้ประโยชน์จากอวกาศในข้อนี้เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

การสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูน  เป็นแนวคิดที่ประเทศไทยสร้างได้ด้วยตัวเอง  และต่อยอดสู่การนำงานวิจัยด้านชีวะและฟิสิกส์มาทดลองเพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมอวกาศ อาทิ การทดลองทำฟาร์มลอยฟ้าในอวกาศด้วยบอลลูนเพื่อรับบรรยากาศที่สะอาดกว่าบนพื้นโลก

เมื่อองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศในไทยมีมากเพียงพอ  ก็จะนำไปสู่แนวความคิดใหม่ ๆ ของการวิจัยและการทดลองทางเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะดาวเทียมเท่านั้น เช่น การทดลองรับส่งสัญญาณของระบบนำทาง การติดตามหรือขับเคลื่อนรถยนต์จากชั้นบรรยากาศอวกาศ ซึ่งเราอาจเรียกรวม ๆ ได้ว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน high altitude platform ของประเทศ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นที่การสร้างโอกาสการทดลองให้นักวิจัยไทย

ดังนั้น การทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูน จะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต ช่วยเพิ่มทั้งโอกาสและพื้นที่การทำงานของนักวิจัยไทย  สร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียด้านวิทยาศาสตร์อวกาศมาช่วยพัฒนางานวิจัย เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศของประเทศไทย และต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้งานจริงในอนาคต

เป็นที่น่าสังเกตว่าการปล่อยบอลลูนกะเพรานี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม มีการซักถามทีมงานตลอดการเตรียมการ ได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีความสนุกสนาน ตื่นเต้น ท่ามกลางแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น

เพื่อให้บรรยากาศของการเรียนรู้เช่นนี้ยังดำเนินต่อไปและกระจายไปทั่วประเทศ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนควรได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรเรียนรู้ระยะสั้น ในระดับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน โดยอาศัยประสบการณ์จากการทดลองครั้งนี้เป็นต้นแบบ  อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต

ความสำเร็จของการปล่อยบอลลูนผัดกะเพราครั้งนี้  นับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จเล็ก ๆ ทั้งด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการนักวิจัยของประเทศไทย และการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ  เมื่อนำความสำเร็จเล็ก ๆ มารวมกัน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะพาไปสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ขอเพียงไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทยทุกคนร่วมกัน

อ้างอิง ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการ หัวหน้าโครงการ National Space Exploration (NSE), GISTDA

logoline