ข่าว

จับ4เขมรหนีแล้งเข้าไทยทัพฟ้าส่งบินทำฝนหลวง

จับ4เขมรหนีแล้งเข้าไทยทัพฟ้าส่งบินทำฝนหลวง

03 มี.ค. 2553

จับชาวกัมพูชาหนีภัยแล้งเข้าทำงานในประเทศไทย 4 ราย เผยลักลอบมาทำงานในไทยด้าน จ.สระแก้ว แล้วคิดถึงบ้านอยากกลับ ตัดสินใจเดินทางมาเรื่อยๆ เหตุไม่รู้ทาง จนมาถูกตำรวจจับกุม แม่ทัพภาคที่ 2 กังวลกลางเดือนมีนาคน แล้งหนักทั่วอีสาน สั่งระดมรถบรรทุกน้ำกว่า 100 คันแล

 วันที่ 3  มี.ค.53 เวลา 00.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จับกุมตัวผู้ต้องหาแอบลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะออกตรวจตามสถานีขนส่ง โดยจากการตรวจรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาถึงบริเวณสถานีขนส่ง อ.กันทรลักษ์ ก็พบกับกลุ่มชายหญิงมีลักษณะท่าทางมีพิรุธจึงได้ขอตรวจสอบเอกสารต่างๆ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดมีเอกสารใดยืนยันจึงควบคุมตัวเข้า สภ.กันทรลักษ์

 จากการสอบถามทราบว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 รายคือ นายเทียง เยือน อายุ 30 ปี 2.นายไย เยือน อายุ 25 ปี 3.นางจาบ เยือน อายุ 24 ปี และนางจันทรา เยือน อายุ 23 ปี โดยทั้ง 4 รายเป็นญาติและสามีภรรยากัน เป็นชาวเมืองเปยแวง ประเทศกัมพูชา

 ด้านนายเทียง และนางจาบ สองสามีภรรยา เปิดเผยว่า พวกตนนั้นได้เดินทางมารับจ้างในประเทศไทย ซึ่งแอบลักลอบเข้ามาที่บริเวณ จ.สระแก้ว ของไทย โดยจ่ายให้กับนายหน้าคนละ 2,500 บาท เพื่อที่จะได้เข้ามาทำงานในไทย โดยพวกตนนั้นได้มารับจ้างอยู่สวนยางพาราได้ค่าแรงวันละ 170 บาท อยู่กันมาได้ 5-6 เดือน ก็คิดถึงบ้านเกิดอยากกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเท่านั้น แต่ไม่ทราบทางกลับ จึงได้เดินทางมาเรื่อยๆ จนถึงบริเวณที่ถูกตำรวจตรวจจับ

 จากการสอบถามทั้งคู่กล่าวว่าในช่วงฤดูร้อนนี้ชาวกัมพูชาก็ยิ่งจะเดินทางมารับจ้างในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากที่หมู่บ้านตนนั้นแล้งมากและไม่ได้มีการเพาะปลูกอย่างอื่นนอกจากข้าว เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวส่งร้อยตำรวจเอก สังวร วันทะวี ร้อยเวรสภ.กันทรลักษ์เพื่อดำเนินคดีต่อไป


 แม่ทัพภาค2สั่งระดมน้ำช่วยภัยแล้ง

 พลโทวีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาค 2 เปิดเผยถึง การเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่รับผิดชอบนั้น ได้สั่งการให้จังหวัดทหารบกและมณฑลทหารบกทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยแล้งร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและ กอ.รมน.จังหวัด ในทุกๆพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นการเตรียมการเนื่องจากแต่ละจังหวัดยังไม่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยแล้งทั้งจังหวัดมีแต่เพียงประกาศเป็นพื้นที่แห้งแล้งเพียงบางอำเภอเท่านั้นเอง

  แต่ในช่วงประมาณกลางเดือน มีนาคม 2553 เป็นต้นไป คาดการณ์ว่าน่าจะเกิดปัญหาภัยแล้งมากขึ้น และจะขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทางกองทัพภาคที่2 ได้รับรายงานว่าระดับน้ำในอ่างเก็บในแต่ละพื้นที่ที่เป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำลำตะคลอง หรือไม่ว่าจะเป็นที่เขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่เหลือระดับน้ำไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ ตนจึงเชื่อว่าแล้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ต้องประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุด แต่ทางกองทัพบก ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งไว้อยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 5 มีนาคม 2553 ทางกองทัพจะมีการแถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในโครงการ รักร่วมใจช่วยภัยแล้ง

 สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก คือที่ จ.สกลนคร เนื่องจากเขื่อนน้ำอูน มีระดับน้ำที่เหลือเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคเหลือไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ความจุของเขื่อน ส่วนที่ลำน้ำพุงก็มีระดับน้ำที่เหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ดังนั้นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ตามเทือกเขาจะมีปริมาณน้ำที่เหลือน้อยเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาภัยให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แล้ว และจังหวัดอื่นๆก็เริ่มได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา ในแต่ละพื้นที่ก็เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งบางแล้ว แต่โดยรวมทุกจังหวัดยังไม่ได้มีการร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา แต่อาจจะมีบางจังหวัดที่ร้องขอเข้ามากับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยตามจังหวัดทหารบกและมณฑลทหารบกโดยตรง แต่ตนต้องการให้ประชาชนที่เดือดร้อนมาแจ้งความจำนงที่จังหวัดเพื่อที่จะได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและ กอ.รมน.จังหวัด หากมีการร้องขอเข้ามาทางกองทัพบกได้มีการเตรียมรถบรรทุกน้ำของกองทัพบกจำนวนกว่า 100 คันและศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทุกจังหวัดรวมทั้งกำลังพลทุกหน่วยงานพร้อมทั้งได้ประสานกับกรมทรัพย์เพื่อจัดหาแหล่งน้ำไว้อุปโภคและบริโภคหากน้ำไม่เพียงพอ

 พลโทวีร์วลิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในทุกจังหวัดได้มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบความระดับภัยแล้งในแต่พื้นที่ และได้ขอความร่วมมือกับเกษตรกรที่จะทำนาปรังในปีนี้ให้หยุดทำนาปรังก่อนเนื่องจากปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ตามอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรไม่ว่าจะเป็นลำน้ำโขงที่เหลือปริมาณน้ำที่น้อย โดยบางแห่งสามารถเดินข้ามไปฝั่ง สปป.ลาว ได้ ดังนั้นลำน้ำหลังๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ลำน้ำชี บางช่วงในขณะนี้ก็เริ่มได้มีปัญหาโดยเฉพาะทางด้านจังหวัดขอนแก่นต่อกับจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตอนนี้ได้มีการทำที่กั้นน้ำเนื่องจากน้ำเริ่มขาดแคลนในทุกพื้นที่ พลโทวีร์วลิตฯ กล่าว

ตรวจเยี่ยมหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่31รับมือภัยแล้ง

 ที่จ.น่าน พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยม และรับฟังบรรยายสรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 พร้อมทั้งให้โอวาทแก่กำลังพลของหน่วยในการปฏิบัติหน้าที่พัฒนาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย อีกทั้งตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานโครงการต่างๆ ภายในหน่วย ณ กองบังคับการหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 บ้านป่าตองดอนทรายทอง ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน อาทิ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจที่ให้เยาวชน ชาวบ้าน นักเรียนนักศึกษามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง เช่นโครงการเพาะเห็ด โครงการเลี้ยงไก่พื้นเมือง โครงการเลี้ยงสุกรโครงการทำปุ๋ยหมัก โครงการปลูกผักสวนครัว โครงการปลูกไม้ผล

 โครงการเลี้ยงปลาในสระเก็บน้ำในไร่นา โรงสีข้าวขนาดเล็ก โครงการเผาถ่านผลิตน้ำส้มควันไม้ โครงการผสมเทียมโค สถานีเพาะพันธุ์ปลา โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอปัว มาแนะนำด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพิ่มเติม ภารกิจเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ปลา เพื่อแจกจ่ายให้กับราษฎรในพื้นที่ และหน่วยงานราชการ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย แนะนำให้ความรู้แก่เยาวชนของโรงเรียน

 ในการนี้ พ.อ.อนุพนธ์ ฟูเฟื่อง ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นำกำลังพลให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการของหน่วย ให้กับผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และคณะได้รับทราบ โดยปัญหาหลักที่หน่วยประสบขณะนี้ก็คือไม่มีน้ำใช้ภายในหน่วย ต้องใช้ระบบประปาภูเขาซึ่งต้องใช้ร่วมกับชาวบ้าน จนบางครั้งน้ำประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จะขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้ก็ไม่ได้เพราะลึกกว่า100เมตรอีกทั้งที่ตั้งหน่วยไม่มีสายน้ำด้านล่างเลย พร้อมกันนี้ก็ได้ตรวจความพร้อมของยานพาหนะที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เครื่องจักรกล และกำลังพลแต่ละฝ่าย

 สำหรับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่งของ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพไทย และเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ และป้องกันรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติสืบมาตั้งแต่สมัยยังเป็น ( กรป.กลาง ) โดยหน่วยจะนำศักยภาพทั้งมวลที่มีอยู่ ทั้งในด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าไปพัฒนาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยู่ดี กินดี และมีความสุข สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งพวกเราสำนึกอยู่เสมอว่าการปฏิบัติงานเพื่อประชาชน “ นั้นมิได้เป็นเพียง หน้าที่ที่ต้องกระทำ หากแต่เป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ และมีเกียรติ ” ที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยผลักดันและเกื้อหนุนให้พี่น้องประชาชนสามารถยืนหยัด ด้วยตัวเองได้ พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความภาคภูมิใจ เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือการได้มีโอกาสปฏิบัติภารกิจเพื่อสนองพระราชดำริ ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ พระบิดาแห่งการพัฒนา ”

 พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กล่าวถึงแผนการรับมือกับปัญหาภัยแล้งของประชาชนว่า ดูจากสถิติปัญหาภัยแล้งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะปีนี้จะมีปัญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้น และวันนี้ตนได้มาตรวจเยี่ยมสายปฏิบัติงานของหน่วยในพื้นที่ภาคเหนือ และได้มาที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่31อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งตอนนี้จังหวัดน่านได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้งแล้วจำนวน 15 อำเภอ ในการเตรียมความพร้อมและเตรียมการรับมือของหน่วย

 โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสานก็จะมีหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ พื้นที่ภาคเหนือจำนวน 6 หน่วย โดยมีสำนักงานพัฒนาภาคเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ถ้าปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็สามารถร้องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยต่างหรือศูนย์บรรเทาสาธารณภัยต่างๆของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ และสำนักงานพัฒนาภาคได้ ซึ่งในการเตรียมการขั้นต้นด้วยความเร่งด่วนคงจะมีการแจกจ่ายน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคให้กับราษฎร ในปัญหาระยะปานกลางและระยะยาวก็คงจะเป็นการขุดลอกคูคลองหรือแหล่งน้ำเดิม รวมทั้งการขุดเจาะน้ำบ่อบาดาลให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมายที่เราเลือกไว้หรือตามที่ประชาชนร้องขอมา

ทัพฟ้าส่งเครื่องบินทำฝนหลวงช่วยภัยแล้ง

 เมื่อเวลา 09.30 น.พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานพิธีส่งหน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศประจำปี 2553 เพื่อไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ หลายพื้นที่ในประเทศไทยจะประสบกับภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวนทั้งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น กองทัพอากาศจึงเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย

 โครงการนี้เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นห่วงภัยแล้ง ดังนั้นโครงการฝนหลวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2512 ทางกองทัพอากาศได้ร่วมโครงการฝนหลวงตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งปีนี้ได้ส่งอากาศยานสนับสนุนโครงการ“ฝนหลวง”จำนวน 12 เครื่อง ประกอบด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จำนวน 4 เครื่อง เครื่องบินโจมตีแบบธุรการแบบที่ 2 (AU-23A จำนวน 6 เครื่อง เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (ALPHA JET ) จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งภัยแล้งน่าจะหนักพอสมควร เราจึงวางแผนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การทำฝนหลวงมีขั้นตอนหลายอย่าง จะมีวิธีการทำฝนเทียมในสภาพเมฆอุ่นหรือในสภาพเมฆเย็น มีข้อมูลทางเทคนิคมาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องวิเคราะห์ตรวจสอบจุดใดน่ามีโอกาสทำฝนเทียมได้มากที่สุด