ข่าว

ธนาคารหมูหลุมภูสิงห์ ทางออกทางเลือกแก้วิกฤติ "หมู" ขาดตลาดและราคาแพง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธนาคารหมูหลุมภูสิงห์ ทางออกทางเลือกแก้วิกฤติ "หมู" ขาดตลาดและราคาแพง โดยการผลิตหมูลูกผสม 3 สายพันธุ์ เหมยซาน  ดูรอกเจอร์ซี่ และหมูป่า  ปีละประมาณ 30 คู่  แล้วส่งมอบให้เกษตรกรนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเอง ครอบครัวละ 1 คู่

วิกฤติ "ราคาหมู" มีชีวิตราคาตกต่ำในช่วงปี พ.ศ. 2562 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขาดทุน ด้วยเพราะอาหารหมูมีราคาแพง  เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดมีราคาแพงและนำเข้าลำบากเนื่องจากสถานการณ์โควิด  ส่วนมันสำปะหลังเกิดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรลดการผลิต

 

ขณะที่โรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (African Swine Fever :ASF) เกิดระบาดทำให้หมูตายเป็นจำนวนมาก แม่หมูลดน้อยลงกว่าครึ่งทำให้ลูกหมูออกสู่ตลาดน้อยลง ทั้งที่ในอดีตประเทศไทยสามารถเลี้ยงหมูได้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออกได้

 

 จากสถาณการณ์ดังกล่าวทำให้ผลผลิตหมูหายไปจากระบบกว่า 60 %  หรือกว่า 1.2 ล้านตัว

 

ในเดือน มกราคม พ.ศ. 2565  "ราคาหมู" มีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ย 105  บาท / กก. ทำให้เนื้อสดหมูยืนที่ราคา 200  บาท / กก. ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริโภคในวงกว้าง นับเป็นความผันผวนของสถานการณ์ และปัจจัยเสี่ยงที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเจอทางตันก็ย่อมมีทางออก 

 

นายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่าทางศูนย์ฯ ได้ทดลองผสมพันธุ์หมูได้ลูกผสมหมูภูสิงห์ที่เกิดจากลูกผสม 3 สายพันธุ์ ระหว่างหมูเหมยซาน (แม่) ดูรอกเจอซี่และหมูป่า (พ่อ)

 

 

โดยนำจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์มารวมกัน คือ  หมูเหมยซาน เลี้ยงง่ายโตไวให้ลูกดกและถี่โดยออกลูกปีละ 2 - 3 ครั้ง ๆ ละ 15 – 20  ตัว  เลี้ยงลูกเก่งกินอาหารที่คุณภาพต่ำได้  ทนต่อสภาพอากาศหนาวชื้นของที่สูงได้ดีเป็นหนุ่มสาวเร็ว เมื่อายุประมาณ 4 - 6 เดือน จะมีเนี้อเพิ่ม  ส่วนหมูป่า เลี้ยงง่าย แข็งแรง เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุราว 8 - 10 เดือน ตั้งท้องนาน 101 - 130 วัน ออกลูกครั้งละ 3 - 12 ตัว ลูกหย่านมเมื่ออายุ 3 - 4 เดือน และหมูพันธุ์ดูร็อก  (Duroc) หมูพื้นเมืองของอเมริกามีกล้ามเนื้อแข็งแรงเลี้ยงง่ายโตไวอัตราการแลกเนื้อสูง 

ธนาคารหมูหลุมภูสิงห์ ทางออกทางเลือกแก้วิกฤติ "หมู" ขาดตลาดและราคาแพง

ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรม "ธนาคารหมูหลุม"ตั้งแต่ปี 2563  โดยการผลิตหมูลูกผสม 3 สายพันธุ์  (เหมยซาน  ดูรอกเจอร์ซี่ และหมูป่า)  ปีละประมาณ 30 คู่  แล้วส่งมอบให้เกษตรกรนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเอง ครอบครัวละ 1คู่ โดยเกษตรกรจะคืนต้นทุนให้กับทางศูนย์ฯ เพื่อนำไปให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไปในระบบธนาคารหมูหลุม โดยเกษตรกรต้องเลี้ยงในระบบหลุมเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูภายใต้การกำกับและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ อย่างเคร่งครัด ซึ่งใน1 หลุมสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ประมาณ 750 กิโลกรัมต่อรุ่น  นายสมชาย เชื้อจีน กล่าว 

ธนาคารหมูหลุมภูสิงห์ ทางออกทางเลือกแก้วิกฤติ "หมู" ขาดตลาดและราคาแพง

ธนาคารหมูหลุมภูสิงห์ ทางออกทางเลือกแก้วิกฤติ "หมู" ขาดตลาดและราคาแพง

ทางด้านนางพนาไพร หอมทรง เกษตรผู้เลี้ยงหมูหลุม เปิดเผยว่าอาชีพหลักคือทำสวน และปลูกพริก แตงกวา ถั่วฝักยาว และปลูกผักสวนครัว ทั่วไป แล้วนำพืชผักไปขายที่ตลาดทุกวัน ตอนเย็นกลับมาก็เลี้ยงหมู ผักหากวันใดเหลือจะเอามาเลี้ยงหมูโดยเลี้ยงแบบ "หมูหลุม" และเอามูลไปทำปุ๋ยหมักใส่ผักที่ปลูก "หมูหลุม" เลี้ยงง่ายไม่สิ้นเปลืองลงทุนน้อย 

ธนาคารหมูหลุมภูสิงห์ ทางออกทางเลือกแก้วิกฤติ "หมู" ขาดตลาดและราคาแพง

ครั้งแรกทางศูนย์ฯ ภูสิงห์ อบรมการเลี้ยงให้พร้อมมอบลูกหมูให้ 1 คู่  ตอนนี้ออกลูก 7 ตัว โดยจะขายลูกหมูหลังออกลูกเลยเมื่อมีพ่อค้ามารับซื้อ โดยจะขายคู่ละ 1,700 บาท แต่ถ้าเลี้ยงต่อ 1 – 2 เดือน จะขายได้ราคาตัวละ 1,200 -1,300  บาทต่อตัว โดยพ่อค้ามารับซื้อไปทำหมูหัน นับเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดีเพราะเฉลี่ยแล้ว 4 เดือนก็ขายได้เงิน  นางพนาไพร หอมทรง พร้อมเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยมีสมาชิก 25 คน  ส่วนมูลหมูจะตัก 3 เดือนครั้งได้มูลประมาณ 10 กระสอบ ส่วนใหญ่จะใส่บำรุงแปลงผักที่ปลูก แต่อีกส่วนจำหน่ายเป็นปุ๋ยคอกกระสอบละ 35 บาท มีเกษตรกรมาซื้ออย่างต่อเนื่อง 

 

“รู้สึกภูมิใจที่พระพันปีหลวงได้มอบโครงการภูสิงห์นี้ให้ประชาชนมีกินมีใช้อยู่อย่างพอเพียง มีรายได้เสริมบางรายก็ได้เงินเป็นค่าเทอมลูก ทำให้ชีวิตไม่ขัดสน เมื่อก่อนเราไม่เคยมีความรู้ เมื่อเข้าไปที่โครงการฯ ทำให้ได้รับความรู้มากมาย และดีใจที่รัชกาลที่ 10 พระองค์ได้ดำเนินรอยตามรัชกาลที่ 9 รู้สึกภูมิใจ ดีใจที่พระองค์ท่านดูแลประชาชนอย่างพวกเรา นางพนาไพร หอมทรง กล่าว

 

ทั้งนี้ต้นทุนในการเลี้ยง "หมูหลุม" ขนาด 2 หลุมต่อครอบครัวจะอยู่ที่  14,000  บาท / ปี  ผลผลิตเฉลี่ย  24 ตัว / รุ่น  ปีละ 2 รุ่น  จะได้ลูกหมูประมาณ 48 ตัว / ปี  มูลค่าประมาณ 48,000  บาท / ปี  ได้ปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 4 ตัน / รุ่น รวม 8 ตัน  มูลค่าประมาณ 24,000  บาท  รวมกำไรทั้งปี  ประมาณ 58,000  บาท / ปี นับเป็นรายได้เสริมของเกษตรกรและช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี

 

ขณะที่ปริมาณหมูเข้าสู่วงจรการตลาดเพิ่มขึ้น ยังผลให้ผู้บริโภคมีเนื้อหมูบริโภคในราคาต่ำตามมาด้วยนับเป็นการการสืบสาน ต่อยอด ขยายผล  ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อความผาสุกของพสกนิกรใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ 

 

สำหรับศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษนั้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรบริเวณอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ส่วนราชการต่าง ๆ  ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนา การเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล และให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินงานในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชเสาวนีย์มาดำเนินการ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร. ) ทำหน้าที่ประสานงานในการดำเนินงานจวบจนปัจจุบัน
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ