ข่าว

เอ็นดู "พลายโค้ก" กลัวเข็ม ดำน้ำหนีหมอ ไม่ยอมให้ฉีดยา (มีคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เอ็นดู "พลายโค้ก" กลัวเข็ม ดำน้ำหนีหมอ ไม่ยอมให้ฉีดยารักษา ด้าน "หมอล็อต" ชี้ ช้างป่ามีพฤติกรรมแช่น้ำรักษาตัวเอง แต่เป็นห่วงแผลติดเชื้อ

ความคืบหน้าการช่วยเหลือ "พลายโค้ก" ช้างป่าเพศซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเขาชะเมา จังหวัดระยอง ที่บาดเจ็บจากการต่อสู้กับช้างป่าด้วยกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  โดยทีมสัตวแพทย์และสัตวบาลจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ชุดที่ 6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า กลุ่มกรินคีรี กลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า เข้าไปให้การรักษา


หลังจากพบว่าแผลที่ขาหน้าเริ่มบวมอักเสบ มีหนอง ทีมสัตวแพทย์จึงเดินทางมาให้ยาทุกวัน ขณะที่ทีมอาสาสมัครคอยเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง และให้ยาในผลไม้ แต่ล่าสุดพบว่าพลายโค้กเรื่มไม่มีเรี่ยวแรง และไม่ยอมขึ้นจากน้ำให้หมอฉีดยารักษาอาการเหมือนเคย โดยพลายโค้กจะอยู่ในน้ำตลอด เหมือนกับเด็กกลัวเข็มฉีดยา กลัวหมอมารักษา  ทำให้เป็นอุปสรรคในการรักษาและอาจเกิดการติดเชื้อที่แผลได้ ทางทีมสัตวแพทย์จึงเข้าประชุมวางแผนการรักษา ว่าจะ ต้องยิงยาซึม เพื่อผ่าล้างแผล แต่ต้องประเมินอาการก่อน

เอ็นดู "พลายโค้ก" กลัวเข็ม ดำน้ำหนีหมอ ไม่ยอมให้ฉีดยา (มีคลิป) เอ็นดู "พลายโค้ก" กลัวเข็ม ดำน้ำหนีหมอ ไม่ยอมให้ฉีดยา (มีคลิป)

ด้าน นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน" เกี่ยวกับพฤติกรรมของ "พลายโค้ก" ระบุว่า 

"ช้างกับน้ำ ยามเจ็บป่วย"

เกิน 2 สัปดาห์ หลังจากมีบาดแผล…น่ากังวล!!!

กรณีช้างป่าบาดเจ็บหรือมีบาดแผล เช่น ติดเชื้อ มีหนองหรือเกิดเนื้อตาย ด้วยสัญชาตญาณ ช้างป่ามักจะใช้ลมเป่าจากงวงหรือดินโป่ง พ่นระบายความเจ็บปวดและไล่แมลงวันมาตอมแผล (บางครั้งการพ่นลมหรือเป่าตามตัวบ่อย ๆ ที่ไม่มีบาดแผลก็เป็นการบ่งบอกถึงการอักเสบ ปวด บวม บริเวณนั้นได้) และถ้าเจ็บปวดมากๆก็จะเข้าหา แหล่งน้ำ หรือบริเวณที่มีดินโป่ง โคลน เอาน้ำหรือโคลนพ่นใส่แผล

ยิ่งหากช้างป่าตัวไหนที่ฉลาดมาก ก็จะหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ลึกท่วมตัว ยิ่งมีปลาอาศัยอยู่ยิ่งดี แล้วจะลงไปแช่ทั้งตัว (กรณีบ่อน้ำไม่ลึก ช้างป่าบางตัวจะลงไปสลับนอนตะแคงซ้ายขวา ให้ผิวสัมผัสกับน้ำมากที่สุด) เพื่อให้ปลาเข้ามาตอดบริเวณแผลที่มีเนื้อตาย หรือเป็นหนอง หรือกรณีมีบาดแผล ติดเชื้อ และมีไข้ด้วย การลงไปแช่น้ำทั้งตัว ก็เพื่อให้น้ำช่วยลดไข้ไปในตัว ถือเป็นความฉลาดของช้างป่าที่ใช้ธรรมชาติบำบัดให้ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม วิธีการเช่นนี้เป็นสัญชาติญาณบำบัด ในการปฐมพยาบาลตัวเองเฉพาะหน้าเท่านั้น  หากช้างป่าแช่น้ำนานเกิน 2 สัปดาห์หลังจากที่ตัวเองมีบาดแผลติดเชื้อ ก็จะทำให้แผลเปื่อยยุ่ย หายช้า โอกาสที่จะเกิดแผลเน่าเปื่อยกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น หรือเกิดติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้

การลงแช่น้ำเพื่อบำบัดตัวเอง จึงเป็นสัญชาตญาณบำบัดที่ชาญฉลาด และการลงน้ำหนีหมอไม่ให้ฉีดยา อาจเป็นความน่ารัก แสนรู้ แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่กำลังเกิดขึ้น ร่องรอยฝีหนองที่รอการแตกปะทุเพิ่มขึ้นหลายจุด การเปิดแผลระบายหนองออกมาในช้างป่าที่เราควบคุมการเคลื่อนที่ไม่ได้ตลอดเวลา จะมีความเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเข้าไปเพิ่มมากขึ้น การให้ยาควบคุมการติดเชื้อและการเก็บตัวอย่างหนองไปเพาะเชื้อ เพื่อให้ยาที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่เราและช้างป่าต้องอดทนกัน (จะตีโจรให้ตายในบ้าน หรือจะเปิดประตูให้โจรวิ่งออกไป แล้วกลับเข้ามาใหม่)

เราจึงยังประเมินความเสี่ยงเท่าเดิมอยู่ที่ 50:50

ต่อจากนี้ การทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ช้างป่าที่บาดเจ็บ ลงแช่น้ำ (เหมือนคนเราที่พอมีบาดแผล คุณหมอก็จะกำชับว่าอย่าให้แผลโดนน้ำ แผลจะหายช้า) จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของทีมงานทุกคน และเราเตรียมการไว้แล้ว
     
ให้ความร่วมมือด้วยนะ เจ้าพลายโค้ก ไม่งั้นจะจับหมอโยนน้ำแล้ว



ขอบคุณคลิปจาก เฟซบุ๊ก : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

( ภาพ/ข่าว อัจฉรา วิเศษศรี ผู้สื่อข่าว จ.ระยอง )

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ