ข่าว

ม.เกษตรศาสตร์ จัดเสวนากรณีน้ำมันรั่วลงทะเล ชี้ ผลกระทบแค่เริ่มต้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.ธรณ์ สรุปประเด็นจากการเสวนากรณีน้ำมันรั่วลงทะเล จัดโดย ม.เกษตรศาสตร์ ชี้ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขณะนี้แค่เริ่มต้น อาหารทะเลกินได้ไหม ยังตอบไม่ได้

แม้ว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลที่ จ.ระยอง จะผ่านมากว่า 20 วัน และภารกิจการเก็บกู้คราบน้ำมันที่ลอยเข้ามาเกยชายหาดแม่รำพึง จะจบลงแล้ว แต่ในแง่ของผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเดินหน้าเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งลงพื้นที่ตั้งแต่เกิดเหตุ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่ง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์สรุปบางประเด็นจากการเสวนา ดังนี้

"ผมสรุปบางเรื่องมาให้เพื่อนธรณ์ อันดับแรกคือพื้นที่ได้รับผลกระทบตอนน้ำมันเข้าหาด กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ร่วมกับคณะประมง ทำกันมาตั้งแต่ต้น พื้นที่ได้รับผลเห็นชัดคือ 2.3 กิโลเมตร แต่นั่นเป็นแค่ข้อมูลแรกเริ่มครับ ภายหลังอาจมีการตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม

จาก 2.3 กม. เราสรุปออกมาเป็น 4 พื้นที่ - วิกฤต (700) มาก (300) ปานกลาง (700) และน้อย (300+300)

การตรวจสอบล่าสุด ในเขตวิกฤตยังมีน้ำมันฝังตัว ขุดไปยังเห็นด้วยสายตา ถ้าขุดหลุมยังมีฟิล์มน้ำมันขึ้นมาตามน้ำ สัตว์ที่อยู่ในเขตวิกฤตส่วนหนึ่งตาย โดยเฉพาะหอยเสียบ/ปูทหาร ที่หนีไม่ได้ ตัวเลขยังไม่จบเพราะต้องตามไปอีกระยะ

เครดิตภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นั่นเป็นเฉพาะชายหาด ยังมีพื้นทะเล แนวปะการัง หญ้าทะเล ที่ต้องติดตามกันต่อไป

จุดที่ควรระวังคือน้ำมันอาจไม่ทำให้ตาย แต่ทำให้อ่อนแอ/เป็นโรค เมื่อเจอผลกระทบจากอย่างอื่น เช่น โลกร้อน/น้ำร้อนผิดปรกติ อาจตายตอนนั้น

คงจำกันได้ว่าปีที่แล้ว เกิดปะการังฟอกขาวในเขตน้ำตื้นบางแห่งในระยอง ผมมีโครงการต่อเนื่องแถวนั้น จะลองช่วยตามดู

พื้นทะเลต้องใช้เวลาเก็บตัวอย่าง/วิเคราะห์นาน ขณะที่ปะการัง/หญ้าทะเลต้องตามดูในระยะกลางและระยะยาว

เครดิตภาพ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การฟื้นฟูในตอนนี้ยังบอกไม่ได้ แต่หน่วยงานต่างๆ แจ้งความไว้แล้วทั้งครั้งแรกและครั้งสอง มูลค่าความเสียหายต้องรอการประเมิน มีคณะอนุกรรมการฯ มารวบรวมและประเมินแผนฟื้นฟูจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด

การเยียวยาตอนนี้มีผู้ลงชื่อไว้แล้ว 7,800 ราย เทียบกับปี 2556 ระบบดีขึ้นเยอะ เพราะก่อนหน้านี้มีการลงทะเบียนผู้ประกอบการในหาดแม่รำพึงไว้ทั้งหมด ยังรวมถึงชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ การลงทะเบียนแบบนี้จะช่วยให้กระบวนการต่างๆ เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์มากเหมือนครั้งก่อน

ข้อมูลจากทางจังหวัดระยองบอกว่าน่าจะเริ่มชดเชยเยียวยากลุ่มแรกๆ ได้ในช่วงเดือนมีนาคม ต้องติดตามต่อไป

ยังมีประเด็นเรื่องการดูแลตอนขนถ่ายน้ำมัน ปริมาณที่รั่ว ฯลฯ รายละเอียดเยอะครับ ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษอธิบายชัดเจนถึงจุดต่างๆ ที่สังคมสงสัย

สรุปการทำงาน จุดที่ต้องตามต่อไปเรื่อย ๆ คือเขตวิกฤตว่าเมื่อไหร่น้ำมันจะเลิกซึมขึ้นมา เพราะถ้ายังเป็นเช่นนี้ การเปิดหาดตรงนั้นอาจลำบากหน่อย อาจต้องพิจารณาเปิดเฉพาะบางเขต

อาหารทะเลกินได้หรือไม่ยังบอกยาก เพราะมีหลายชนิด ปลา กุ้ง ปู และหอยที่น่าจะสะสมนานสุด รอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงแถลงจะดีกว่า

สำหรับการประเมินผลกระทบ บอกเลยว่าตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น เพราะน้ำมันยังไม่หมดจากหาดด้วยซ้ำ งานนี้ยังอีกยาว

ขอบคุณ ม.เกษตรศาสตร์ ที่จัดเสวนาเรื่องนี้ เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น หลังจากช่วงแรกๆ ที่ยังสับสนกันอยู่

ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำมาตั้งแต่ต้น เราคงต้องเริ่มถอดบทเรียน และนำมาปรับปรุงในจุดต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อจัดทำกระบวนการที่รอบคอบรัดกุม

เพราะผู้รับผิดชอบควบคุมในวันนี้ รวมถึงวิทยากรทุกท่าน อีก 5 ปีคงเกษียณกันหมดแล้ว ระบบที่ปรับปรุงแล้วจึงจำเป็นมากสำหรับอนาคต

ไม่งั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนคงวนอยู่กับที่ และความเสียหายซ้ำซากคงยังทำร้ายทะเลของเราต่อไปครับ"

logoline