ข่าว

เลือดเก่า "สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์” ลาออก ปชป.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลือดเก่า "สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์” อดีต ส.ส. นครศรีฯ ลาออก ปชป. หลัง ปชป. เปิดตัวผู้สมัครส.ส.หน้าใหม่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 คน แต่ไม่มีชื่อ สุรเชษฐ์ ด้าน จุรินทร์ บอกให้ความสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าเก่า-ใหม่

11 ก.พ. 65 ที่พรรคประชาธิปัตย์  "นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์"อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช ได้มายื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ต่อนายวิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนพรรคประชาธิปัตย์ โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่าขอลาออกตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป  

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ "นายสุรเชษฐ์ "ให้สัมภาษณ์ว่าไม่พอใจที่ผู้บริหารพรรคเปิดตัวผู้สมัครส.ส.หน้าใหม่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 คน ทั้งที่เขตเลือกตั้งดังกล่าวเป็นเขตเดิมของตน อีกทั้งยังเคยยื่นความจำนงว่าจะขอลงเลือกตั้งส.ส.ไว้แล้ว แต่ไม่เคยได้รับการติดต่อจากผู้บริหารพรรคแต่อย่างใด

 

จุรินทร์ ยัน ให้ความสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าเก่า-ใหม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังจากที่ "นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์" ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพราะไม่พอใจที่คิดว่าพรรคจะเอาผู้สมัครคนใหม่มาลงแทนว่า ตนขอยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าคนเก่า คนใหม่เพราะ ปชป.เป็นพรรคการเมืองของคนทุกรุ่น

 

แต่กรณีของ "นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ "ที่ลาออกไปนั้นเป็นปัญหาเฉพาะกรณี ไม่ใช่ปัญหาพรรคไม่ให้ความสำคัญกับคนเก่า แต่เพราะหลังแพ้เลือกตั้งที่นครศรีธรรมราช "นายสุรเชษฐ์ "ได้แจ้งว่าจะไม่ขอลงสมัครแล้ว พรรคจึงต้องหาผู้สมัครคนใหม่และได้ลงเดินในพื้นที่ไปนานแล้วซึ่งก็ทราบกันว่า "นายสุรเชษฐ์" ก็สนับสนุน แต่หลังการแก้ รธน.นายสุรเชษฐ์ ก็กลับแจ้งว่าจะขอลงสมัครอีก ก็เลยเป็นปัญหา ซึ่งพรรคก็กำลังหาทางออกให้นายสุรเชษฐ์อยู่ ไม่ได้ปิดกั้นนายสุรเชษฐ์และไม่ได้ทอดทิ้ง เพราะเห็นว่านายสุรเชษฐ์เป็นผู้อาวุโสและพรรคให้ความสำคัญ แต่เมื่อนายสุรเชษฐ์ได้ยื่นลาออกก็ต้องเคารพการตัดสินใจของนายสุรเชษฐ์  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
    

เลือดเก่า "สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์” ลาออก ปชป.

ส่วนกรณีการลาออกของนายถวิล ไพรสณฑ์ นั้นต้องยอมรับว่าในพรรคก็งุนงง เพราะไม่มีทีท่ามาก่อน ยังทำงานกินข้าวเที่ยงด้วยกันกับตนอยู่บ่อยครั้ง แต่หากเป็นเหตุผลเรื่องการกระจายอำนาจนั้นตนขอเรียนว่าการกระจายอำนาจยังเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคยังให้ความสำคัญจนถึงวันนี้ แม้แต่ อบต.ที่เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุดก็เกิดในยุคพรรคประชาธิปัตย์

 

แม้ล่าสุดก็จะเห็นได้ว่าตนได้ออกมาเรียกร้องให้คืนอำนาจให้คนกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและ สก. จนนำมาซึ่งการส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.และ สก.ในเดือนพฤษภาคม

 

นอกจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง สข.เพื่อให้มีการกระจายอำนาจลงลึกไปถึงชุมชนใน กทม.ด้วย 

 

และล่าสุดในสัปดาห์หน้าโดยการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ สภาก็ได้มีมติให้มีการเลื่อนพระราชบัญญัติการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการกระจายอำนาจและเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ 

ตนจึงขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับเรื่องของการกระจายอำนาจไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ