ข่าว

ไขข้อข้องใจ "ไม่จ่ายค่างวด" ผ่อนรถ ค้างกี่เดือนจึงจะถูกยึดรถ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากการเงินสะดุด "ไม่จ่ายค่างวด" หรือ ค้างค่างวดผ่อนชำระ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ค้างกี่เดือนจึงจะถูกไฟแนนนซ์ยึดรถ? วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกัน

จากสถานการณ์ "โควิด-19" ทำให้หลายๆ กิจการ และ หลายๆ คน มีการเงินสะดุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่สถานภาพการเงินหลายๆคน ยังคงน่าเป็นห่วง รวมไปถึงกำลังในการ "ผ่อนงวดรถ" ที่สถานะการเงินอาจจะไม่ไหว "ไม่จ่ายค่างวด" หรือ ค้างค่างวดผ่อนชำระ วันนี้เราจะมา ไขข้อข้องใจกันว่า ค้าง "ชำระค่างวด" กี่เดือน รถจึงจะถูกยึด?

 


เชื่อว่าใครก็ไม่อยากประสบปัญหาการถูก "ยึดรถ" อย่างแน่นอน เพราะนั่นบ่งบอกว่าคุณกำลังมีปัญหาทางด้านการเงิน แถมเมื่อโดนยึดรถไปแล้วก็ยังมีปัญหาสารพัดตามมา ไม่ว่าจะเป็นประวัติเสียในเครดิตบูโร, การถูกฟ้องร้องจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือเงื่อนไขการผิดนัดชำระจนกระทั่งนำไปสู่การยึดรถ จะได้หลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม
 

ต้องค้าง "ค่างวด" กี่เดือนจึงจะถูกยึดรถ?

หากเป็นการผิดนัดชำระเพียงไม่กี่วัน จนกระทั่งทางไฟแนนซ์ต้องโทรศัพท์มาทวงถาม อันนี้ไม่มีการ "ยึดรถ" เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะไม่ทำให้เกิดประวัติค้างชำระบนเครดิตบูโรด้วย แต่อาจจะทำให้มีค่าทวงถามและค่าปรับล่าช้าเกิดขึ้น ทางที่ดีควรรีบชำระภายในวันที่กำหนด หรืออย่างช้าไม่เกิน 2-3 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับดังกล่าว

 

กรณีค้างชำระค่างวดต่อเนื่องเกิน 3 เดือนขึ้นไป อันนี้ไฟแนนซ์มีสิทธิ์ดำเนินการยึดรถตามกฎหมาย แต่หากเป็นการยึดรถก่อนกำหนด 3 เดือนดังกล่าว จะถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประกอบกับถ้ามีการข่มขู่ บังคับให้ลูกหนี้ลงจากรถยนต์ กระชากกุญแจ หรือการนำกุญแจสำรองมาไขโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ จะถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 โดยหากเป็นการร่วมกระทำผิดเกินกว่า 5 คน จะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

หากไฟแนนซ์ "ยึดรถ" ไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ?

กรณีไฟแนนซ์สามารถยึดรถได้เป็นผลสำเร็จ รถยนต์จะถูกดำเนินการขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาปิดยอดหนี้ที่เหลือ ซึ่งโดยมากแล้วจะถูกขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดที่แท้จริง หากว่ายังคงมีหนี้เหลืออยู่ ไฟแนนซ์จะกลับมาทวงถามค่าส่วนต่าง รวมถึงเรียกเก็บค่าดำเนินการที่เกิดขึ้นในภายหลังอีกด้วย เรียกว่าโชคร้ายสองเด้งเพราะรถไม่มีใช้ แถมยังถูกเรียกเก็บหนี้ส่วนที่เหลืออีกด้วย

 

ดัังนั้น ลูกหนี้ไม่ควรปล่อยให้ไฟแนนซ์ดำเนินการยึดรถอย่างเด็ดขาด (ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอ) เพราะจะทำให้ลูกหนี้หมดอำนาจในการเจรจาต่อรองค่างวดที่ค้างชำระทันที

 

ส่วนทางออกในกรณีไม่สามารถชำระหนี้ไหวจริงๆ ก็มีหลายวิธี เช่น การขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้, การเปลี่ยนสัญญาเพื่อยกรถให้ผู้อื่นผ่อนต่อ หรือการขอรีไฟแนนซ์ ก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้ครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ