ข่าว

"โรคมะเร็ง" แบบไหนป้องกันได้ แบบไหนป้องกันไม่ได้ มีคำตอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โรคมะเร็ง" เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความซับซ้อนในการรักษา และยังเป็นโรคที่ทั้งป้องกันได้และไม่ได้ เช็คปัจจัยเสี่ยง "โรคมะเร็ง" ได้ที่นี่

4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก "โรคมะเร็ง" เป็นอีกหนึ่งโรคที่ซับซ้อนในแง่การรักษา และผลกระทบที่เกิดจากการป่วยเป็น "โรคมะเร็ง" นอกจากจะเกิดกับตัวผู้ป่วยเอง ยังส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัว และบุคคลรอบตัวของผู้ป่วยด้วย

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า "โรคมะเร็ง" สามารถที่จะป้องกันได้จริงหรือ?

พญ. วีรนุช รัตนเดช แพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรแพทย์ "โรคมะเร็ง" โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ตอบของข้อสงสัยว่า มะเร็งสามารถป้องกันทั้งได้และไม่ได้ กล่าวคือ ได้ ในมะเร็งบางชนิดที่เราทราบปัจจัยเสี่ยงชัดเจน และ ไม่ได้ ในมะเร็งบางชนิดที่เราไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

"โรคมะเร็ง" เกิดได้กับทุกอวัยวะและทุกเซลล์ของร่างกาย เราอาจจะคุ้นชินกับ "โรคมะเร็ง" ที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย อย่างเช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม เราจึงคุ้นเคยกับ "โรคมะเร็ง" ชนิดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วนั้น "โรคมะเร็ง" สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะและทุกเซลล์ของร่างกาย โดยยังมีมะเร็งอีกเป็นพันชนิดเลยก็ว่าได้ที่เราไม่เคยได้ยิน เนื่องจากเป็นมะเร็งที่ไม่ได้พบบ่อย

 

 


ปัจจัยเสี่ยงของการเกิด "โรคมะเร็ง" (Risk Factor) คืออะไร?
 

เนื่องจากในปัจจุบันเรายังไม่ได้ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งบางชนิด  เราทราบเพียงว่าปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง เราจึงมักใช้คำว่า ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็ง มากกว่าคำว่า สาเหตุของมะเร็ง เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังมีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งชนิดนั้นๆอยู่ เราก็มีโอกาสที่จะเกิด "โรคมะเร็ง" ชนิดนั้น ๆ ได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง


ปัจจัยเสี่ยงโดยทั่วไป ของการเกิด "โรคมะเร็ง" ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง ?

  1.  อายุที่มากขึ้น/ เชื้อชาติ
  2.  ประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว
  3.  ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4.  สูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง
  5.  ติดเชื้อไวรัสบางชนิด
  6. รังสีอุลตร้าไวโอเลต (UV)
  7. ความอ้วน



สามารถลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้อย่างไรบ้าง?

การลดปัจจัยเสี่ยงการเกิด "โรคมะเร็ง" แต่ละชนิด อาจแตกต่างกันออกไป โดยเราสามารถเริ่มต้นลดความเสี่ยงจากการป่วยเป็น "โรคมะเร็ง" โดยการปรับเปลี่ยน และระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้:

  1.  งด หรือลด การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์
  2.  ทานอาหารที่มีประโยชน์
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4.  รับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด
  5.  มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
  6. ทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัด
  7.  หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการตรวจคัดกรองตามอายุ และความเสี่ยง

 

 

 

การตรวจคัดกรองมะเร็ง (Cancer Screening)

การตรวจคัดกรองมะเร็ง (Cancer Screening) ถือเป็นการตรวจคัดกรองโรคในระยะที่ยังไม่แสดงอาการ โดยหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้น จะสามารถทำการรักษาได้ผลมากขึ้น หรือมีโอกาสหายขาดมากขึ้น โดยเราควรตรวจคัดกรองมะเร็ง หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากกว่าบุคคลทั่วไป และเมื่ออายุถึงเกณฑ์ตรวจคัดกรอง โดยการตรวจคัดกรองตามอายุ อาจแบ่งออกได้ดังนี้ (ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดเป็นพิเศษ)

  • เพศชาย                    อายุ 45 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ 55 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • เพศหญิง                   อายุ 21 ปี ขึ้นไป (หรือมีประวัติมีเพศสัมพันธ์) คัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 40 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งเต้านม  อายุ 45 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

*ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับงานวิจัยปัจจุบัน


พญ. วีรนุช รัตนเดช กล่าวด้วยว่า หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง เช่น คลำเจอก้อนที่บริเวณใดก็ตามของร่างกาย ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ กลืนอาหารลำบาก ถ่ายเป็นเลือด หรือมีอาการผิดปกติอื่นที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง  ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ