ข่าว

"ดร.ธรณ์" เผย นักวิจัยพบคราบน้ำมันใต้ผืนทราย แม้หน้าหาดสะอาดแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความคืบหน้ากระบวนการฟื้นฟูทะเลระยอง หลังเกิดน้ำมันรั่วซ้ำ "ดร.ธรณ์" พบคราบน้ำมันใต้ผืนทราย ชี้ เป็นปัญหาสำคัญ ถ้าไม่ขุดก็ไม่เห็น ทำให้ฝังอยู่นาน และปล่อยผลกระทบออกมาเรื่อยๆ

จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเก็บกู้คราบน้ำมันที่ลอยเข้ามาเกยชายหาดแม่รำพึง และได้ปรับลดแผนฉุกเฉินเข้าสู่โหมดฟื้นฟู หลังไม่พบคราบน้ำมันแล้ว 

ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งลงพื้นที่ตั้งแต่เกิดเหตุ ยังคงนำทีมปฏิบัติการศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยระบุว่า จากขุดทรายเพื่อเก็บตัวอย่างของทีมนักวิจัยจากคณะประมง และกรมทรัพยากรทางทะเล พบเห็นเส้นสีดำเรียงรายอยู่ในหลุม นั่นคือน้ำมันที่สะสมอยู่ เนื่องจากคลื่นพัดพาคราบน้ำมันเข้ามา จากนั้นน้ำก็ไหลกลับไป แต่คราบน้ำมันยังคงเคลือบติดอยู่บนหาด 

คลื่นซัดซ้ำเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า ระหว่างนั้นมีทรายปะปนเข้ามาทับน้ำมัน มันจึงเริ่มเป็นชั้น ๆ เหมือนเค้ก เมื่อคลื่นไปหมด น้ำมันซึมในทราย ทำให้เชื่อมต่อเป็นปื้น มีเส้นดำ ๆ ตรงที่น้ำมันหนาแน่น บางจุดที่มีน้ำมันสะสมมาก ขุดลงไปจะเห็นเป็นปื้นดำทั้งแถบ หรือน้ำมันอาจเกาะกับทรายจนติดแน่นเป็นก้อน ๆ

จากนั้นคลื่นพาทรายกลบ หากเดินดูข้างบน จะมองไม่เห็น จึงต้องขุดดู เมื่อขุดเจอจะต้องค่อย ๆ ตามรอยไปรอบๆ ว่าแถบน้ำมันมีตรงไหนบ้าง ขุดไล่ทีละหลุม บางทีอาจต้องแซะหน้าดินเพื่อตามหา จนรู้สึกว่าเป็นนักบรรพชีวินตามหาซากฟอสซิลอยู่เล็ก ๆ 

เครดิตภาพ Shin Sirachai Arunrugstichai

เนื่องจากหาดลาดเอียงไม่เท่ากัน น้ำมันที่มากับคลื่นก็ไม่เท่ากัน บางจุดอาจมีน้ำมันสะสมเยอะ บางจุดอยู่ใกล้ ๆ อาจไม่มีเลยก็เป็นได้  การติดตามผลกระทบจึงต้องแบ่งเป็น 2 แบบ อย่างแรกคือการขุดตามพิกัดที่วางไว้ ระยะห่างเท่า ๆ กัน เพื่อดูผลกระทบในวงกว้าง วิธีนี้เป็นสูตรสำเร็จสำหรับการติดตามผลกระทบ ยังไงก็ต้องทำ

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ธรณ์ ยังระบุถึงปัญหา คือมีความเป็นไปได้ที่จะพลาดเป้าไม่เจอน้ำมัน โดยเฉพาะถ้าจุดสำรวจแต่ละจุดห่างกันเกินไป 
ทั้งนี้หาดแม่รำพึงนับเฉพาะจากหัวโค้งไปสุดที่ก้นอ่าว ยาว 10 กิโลเมตร หากวางจุดห่างกัน 100 เมตร เท่ากับต้องทำ 100 จุด แต่ละจุดให้เวลานาน 2-3 ชั่วโมง เพราะแต่ละจุดไม่ได้ขุดหลุมเดียว รวมถึงปัญหากำลังคนและงบประมาณ

เครดิตภาพ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

ขณะที่วานนี้ (4) ยังพบน้ำมันเป็นจุด ๆ โดยพบทั้งแบบอยู่ใต้ทรายและแบบเป็นคราบลอยเข้าฝั่ง ซึ่งน้ำมันฝังใต้ทรายเป็นปัญหาสำคัญ เพราะถ้าไม่ขุดหาก็ไม่เห็น ทำให้ฝังอยู่นานและปล่อยผลกระทบออกมาเรื่อย ๆ จุดสำคัญคือคลองหัวรถ อันเป็นจุดที่น้ำมันเข้าเยอะที่สุด มีการกำจัดและทำความสะอาดกันตรงนั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีน้ำมันหลงเหลืออยู่ใต้ทราย  

สำหรับจุดอื่น ๆ เช่น ใกล้ลานหิน มีน้ำมันฝังใต้ทรายเช่นกัน ส่วนคราบน้ำมันที่มากับคลื่น เมื่อติดตามตอนช่วงน้ำลงต่ำ พบคราบน้ำมันลอยมาตามแนวคลื่นยาวหลายสิบเมตร
เครดิตภาพ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เครดิตภาพ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

logoline