"โค้ชเช" ร่วมนายกสมาคมกีฬาเทควันโดฯเตรียมแถลงขอบคุณนายกฯ
"โค้ชเช" ร่วม นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ เตรียมแถลงข่าว แสดงความขอบคุณไปยัง นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หลังกระบวนการขอสัญชาติ ได้รับความเห็นชอบในที่สุด โดยโค้ชสัญชาติไทย รายนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างนักกีฬาเทควันโด ตั้งแต่ปี 2545
ยอง ซอก เช หรือ "โค้ชเช" หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ เขา และ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย จะแถลงข่าวเพื่อแสดงความขอบคุณต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดไปจนถึงผู้เกี่ยวข้องที่สนับสนุน จนได้รับสัญชาติไทย
"โค้ชเช " และครอบครัว อยู่ในเมืองไทย นาน 20 ปี และพยายามขอสัญชาติไทย เพื่อให้ได้เป็นพลเมืองไทย กระทั่งมาได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งมอบสัญชาติไทยเพิ่มเติมประจำปีตามวาระ ทำให้ "โค้ชเช" หรือ ยอง ซอก เช หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ได้รับสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว
"โค้ชเช" รับงานคุมทีมชาติไทย ให้กับสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 สามารถพัฒนานักกีฬาทีมชาติไทยให้สร้างชื่อในกีฬาเทควันโด ประกอบด้วย เยาวภา บุรพลชัย เหรียญทองแดงโอลิมปิกที่เอเธนส์ ในปี 2004 , บุตรี เผือดผ่อง เหรียญเงินโอลิมปิกที่จีน ปี 2008 , ชนาธิป ซ้อนขำ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ ที่กว่างโจว ประเทศจีน ในปี 2010 , สริตา ผ่องศรี เหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว ประเทศจีน ปี 2010 , ชัชวาล ขาวละออ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว , ชนาธิป ซ้อนขำ เหรียญทองแดงโอลิมปิกที่อังกฤษ ในปี 2012 , เทวินทร์ หาญปราบ เหรียญเงินโอลิมปิกที่บราซิล ปี 2016 , พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เหรียญทองแดงโอลิมปิกที่บราซิล ปี 2016 , พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เหรียญทองโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ในโอลิมปิก
องค์ประกอบที่ทำให้"โค้ชเช" ได้สัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ได้แก่ มีอายุบรรลุนิติภาวะ , ความประพฤติ ไม่มีประวัติทั้งคดีอาญา และคดีความมั่นคง, มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ,พำนักและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี , มีความรู้ด้านภาษาไทย
ด้านการสร้างผลงานให้กับนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ในเวทีระดับโลก "โค้ชเช" วัย 47 ปี มีส่วนต่อการสร้างความสำเร็จให้กับ รังสิญา นิสัยสม แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 62 กิโลกรัมหญิง , ชัชวาล ขาวละออ แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 54 กิโลกรัมชาย ในปี 2011 ที่ประเทศเกาหลีใต้ , ชนาธิป ซ้อนขำ แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 49 กิโลกรัมหญิง ในปี 2013 ที่ประเทศเม็กซิโก และ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 46 กิโลกรัมหญิง ในปี 2015 ที่ประเทศรัสเซีย
ผลงานที่เป็นเกียรติประวัติของ"โค้ชเช" ประกอบด้วย ผลงานในกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ ทำให้ "โค้ชเช" ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550, รับรางวัลโค้ชยอดเยี่ยมจากรายการแข่งขัน โคเรีย โอเพ่น อินเตอร์เนชันแนล แชมเปียนชิปส์ ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2015 ด้วยผลงาน 6 เหรียญทอง , 1 เหรียญเงิน และ 5 เหรียญทองแดง 5
รางวัลพิเศษ ได้แก่ รางวัลเกียรติคุณผู้ฝึกสอนต่างประเทศที่มีผลงานดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ 2555 ที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก , รางวัลบุคคลแห่งปี ของกระทรวงวัฒนธรรม, กีฬาและการท่องเที่ยว ประเทศเกาหลีใต้ ในฐานะบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเกาหลีใต้ ปี 2557 , รางวัลผู้ทรงคุณค่าทางการกีฬา วันกีฬาแห่งชาติ ปี 2564
ความพยายามในการขอสัญญาติไทยของ "โค้ชเช" เขาได้ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2561และในปี 2564 โดยร่วมมือกับสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย โค้ชเช มีชื่อไทยคือ "ชัยศักดิ์" ที่มีความหมายคือ "ผู้มีชัยชนะและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่" โดยใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่ปี 2554 กระทั่งจบโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ตั้งชื่อไทยให้ "โค้ชเช" คือ "ชัชชัย ชเว" ซึ่งแปลว่า "ชัยชนะที่มั่นคง" และใช้ชื่อนี้เพื่อขอสัญชาติไทย
ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ ว่า การขอสัญชาติไทย ด้วยการโอนสัญชาติเกาหลีใต้ เพื่อเป็นพลเมืองไทย โค้ชเช ได้เดินเรื่องครั้งแรกในปี 2561 เพราะอยู่เมืองไทยมานาน อยากโอนสัญชาติเป็นพลเมืองไทย อย่างไรก็ตาม ต่อมาโค้ชเช ได้ขอระงับเรื่องนี้เอาไว้ก่อน เนื่องจากโค้ชเช ต้องเดินทางไป- มา ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ เพื่อไปดูแลญาติผู้ใหญ่ที่ป่วย ดังนั้นการ ใช้พาสปอร์ตเกาหลีใต้ คล่องตัวกว่า ทั้งนี้ภายหลังจากญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรม ทำให้ภารกิจหรือความจำเป็นต่อการเดินทางกลับไปที่เกาหลีใต้ลดทอนไปในที่สุด
โค้ชเช ได้มาหารือกับทางสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ถึงความประสงค์ที่อยากจะขอสัญชาติไทย ทางสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย จึงประสานขั้นตอนต่าง ๆ ให้ ทั้งการจัดทำเอกสารรับรอง การประสานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท. ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการขอสัญชาติไทยให้กับโค้ชเช ได้ติดตามเรื่องนี้ร่วมกับ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยฯ ในการประสานขอสัญชาติไทย ที่ผ่านมาที่เกิดความล่าช้า อยู่ที่การจัดเตรียมเอกสารโอนสัญชาติ และการติดขัดในเรื่องส่วนตัวของผู้ร้อง
อนึ่งเหตุผลของ"โค้ชเช" ต้องการโอนสัญชาติเป็นพลเมืองไทย ที่โค้ชเช ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก็คือ เนื่องจากอยู่ในประเทศไทยร่วม 19 ปี รักประเทศไทย และครอบครัวก็รักเมืองไทย เช่นกัน ตลอดเวลาที่อยู่ในไทย ด้วยสัญชาติเกาหลีใต้ จึงไม่สามารถเข้าถึงการเป็นพลเมืองไทย รวมไปถึงการมีสิทธิซื้อบ้าน เพื่ออาศัยไปตลอดชีวิต
รางวัลผู้ทรงคุณค่าทางการกีฬา วันกีฬาแห่งชาติ ปี 2564 ที่โค้ชเช ( ยอง ซอก เช ) หัวหน้าผู้ฝึกสอนกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ได้รับจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ขอขอบคุณภาพ จาก การกีฬาแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย