ข่าว

ภัยเงียบชายสูงวัย ต้องทำอย่างไรให้ชีวิตห่างไกล "มะเร็งต่อมลูกหมาก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์ แนะชายไทยวัย 50 ปีขึ้นไปตรวจคัดกรอง "มะเร็งต่อมลูกหมาก" ด้วย PSA หมั่น ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดี ชีวิตห่างไกลมะเร็งต่อมลูกหมาก

นพ.วิรุณ โทณะวณิก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการฝังแร่เพื่อรักษา "มะเร็งของต่อมลูกหมาก" จากศูนย์รักษามะเร็งด้วยรังสีคริสเตียน่าแคร์และเฮเลนแกรมแคนเซอร์เซ็นเตอร์ มลรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย ว่ายังเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของคนไทยตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน 

 

ทั้งนี้ สถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุพบผู้ชายเป็นมะเร็งเฉลี่ย 169.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยมะเร็งที่ผู้ชายป่วยมากที่สุดได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี,มะเร็งปอด,มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นอันดับ 4

 

ปัจจุบัน แนวโน้มการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ด้วยลักษณะโรคที่เติบโตอย่างช้าๆ ไม่มีอาการบ่งชี้ชัดเจน

 

ส่วนใหญ่พบในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป อาการในระยะเริ่มแรก อาจจะปัสสาวะกะปริดกะปรอย, ปัสสาวะบ่อย, กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะไม่สุด 

 

หรืออาจเกี่ยวข้องกับขนาดของต่อมลูกหมาก หรือต่อมลูกหมากอักเสบ จึงทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการทั่วไปของคนสูงอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตแล้วไปกดท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดลักษณะอาการคล้ายๆ กันกับมะเร็งต่อมลูกหมากได้

ทั้งนี้ "มะเร็งต่อมลูกหมาก" เกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมากจนกลายเป็นมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ สันนิษฐานว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งเต้านมจะมีความเสี่ยงสูง 

 

หรือพฤติกรรมการกินอาหาร, น้ำหนักเกิน, เบาหวาน, มีความเครียดและสูบบุหรี่จัด ก็อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งในการตรวจเพื่อวินิจฉัย โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะซักประวัติสุขภาพ ตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือเพื่อคลำต่อมลูกหมากว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่, การเจาะเลือดเพื่อหาโปรตีนบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก หรือ PSA (PROSTATIC SPECIFIC Antigen) เพื่อนำมาวิเคราะห์หาโปรตีนตัวนี้ในกระแสเลือด 

 

ซึ่งระดับค่าของโปรตีน PSA ที่สูงกว่าปกติอาจจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อ, การอักเสบ, ขนาดของต่อมลูกหมาก รวมถึงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากนำไปตรวจทางพยาธิวิทยาจะช่วยวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือสาเหตุอื่น

 

นพ.วิรุณ กล่าวว่า ในการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนักเพราะจะช่วยลดการติดเชื้อ แต่จะใช้วิธีตัดชิ้นเนื้อ ด้วยเข็มแทงผ่านฝีเย็บ (ผิวหนังระหว่างลูกอัณฑะและทวารหนัก) เข้าไปในต่อมลูกหมาก เพื่อตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างออกมาจากต่อมลูกหมาก 

ร่วมกับการใช้อัลตราซาวด์ขนาดเล็กสอดเข้าทางช่องทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพต่อมลูกหมากและช่วยบ่งตำแหน่งในการตัดชิ้นเนื้อ แล้วนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หาเซลล์มะเร็งและความเร็วในการเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าจำเป็นคนไข้จะถูกส่งไปทำ CT scan, Bone scan และ/หรือ MRI และแม้แต่ PET Scan

 

 เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถจัดแบ่งระยะของมะเร็ง ซึ่งจะเป็นไปได้รวม 4 ระยะ โอกาสที่การรักษาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดคือ ระยะที่ 1 ต่ำสุดคือระยะที่ 4 แพทย์ผู้รักษาจะอธิบายให้คนไข้และครอบครัวเข้าใจถึงขั้นตอนของการวินิจฉัย การรักษา ผลการรักษา และผลข้างเคียงของการรักษาที่ต้องใช้และความสำเร็จที่จะเป็นไปได้สำหรับคนไข้แต่ละคน

 

ในการรักษา "มะเร็งต่อมลูกหมาก" มีวิธีการรักษาหลายวิธี ได้แก่ การตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจะยังไม่มีการรักษาจนกว่าผู้ป่วยมีอาการ หรือผลการตรวจผิดปกติเท่านั้น, การรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นการใช้ยาเพื่อลดระดับการผลิต หรือบล็อกการใช้ฮอร์โมนเพศชาย, การผ่าตัด, การรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฝังแร่กัมมันตภาพรังสีเข้าไปในต่อมลูกหมาก 

 

ถึงแม้การผ่าตัดของเซลล์มะเร็งหรือการฉายรังสี จะสามารถทำให้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากหายขาด แต่ก็มีผลข้างเคียงต่อการใช้ชีวิต เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกและหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ดังนั้นการรักษาด้วยการฝังแร่ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะและได้รับความสนใจจากคนไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ

 

นพ.วิรุณ กล่าวอีกว่า การฝังแร่มะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์ จะวัดขนาดและหาตำแหน่งของก้อนมะเร็ง เพื่อกำหนดตำแหน่งฝังแร่รังสีและตำแหน่งเข็ม โดยใช้อัลตร้าซาวด์ซาวด์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์พิเศษเฉพาะการฝังแร่ ขณะที่คนไข้จะนอนหลับไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง ระหว่างนั้นจะใช้เข็ม แทงผ่านฝีเย็บ เข้าไปในต่อมลูกหมาก 

 

พร้อมใช้เครื่องมือยิงแร่ผ่านเข็มเข้าไปยังตำแหน่งที่ต้องการฝังเเร่รังสีตามที่แพทย์ต้องการ โดยคอมพิวเตอร์จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก โดยใช้เวลาไม่นานและไม่มีแผล หลังจากฝังแร่ไปแล้ว 3-6 เดือน เซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ในต่อมลูกหมากจะตายไป และแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามผลเป็นระยะๆ

 

โดยการเจาะเลือดหาค่า PSA ซึ่งค่าจะต้องต่ำลงไปเรื่อยๆ หลังได้รับการฝังแร่ ซึ่งในท้ายที่สุดค่า PSA จะลงเหลือประมาณ 0.2 หรือ 0.1 หรือต่ำกว่านั้น ค่า PSA ปกติจะไม่เกิน 4 ng/mL ถ้าเกิน 4 ก็ควรตรวจ PSA บ่อยขึ้น เพราะอาจจะสูงจากต่อมอักเสบ ต่อมโต หรือมีมะเร็งอยู่ในต่อมก็เป็นได้

 

สำหรับเม็ดแร่ที่ใช้ฝังเข้าไปในต่อมลูกหมากเพื่อรักษามะเร็ง ในประเทศไทยเป็นเม็ดแร่ไอโอดีน-125 เปลือกภายนอกทำจากโลหะไทเทเนียม เม็ดแร่ I-125 ที่มีค่าครึ่งชีวิต (Half - Life) ประมาณ 60 วัน และส่งรังสีที่เรียกว่า Gamma Ray ออกมาในระยะสั้นๆ จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่ออวัยวะรอบๆต่อมลูกหมาก หรือบุคคลอื่นๆรอบๆผู้ป่วย

 

ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบควรจะระมัดระวังบ้าง ซึ่งแพทย์จะอธิบายให้ทราบ ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่ฝังแร่ไปแล้วจะสามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติภายในวันสองวันหลังจากฝังแร่ไป โดยรังสีจะหมดไปและวัดไม่ได้หลังจาก 1 ปี ทั้งนี้เม็ดแร่ใช้เป็นเม็ดแร่ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

 

“มะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถพบได้ตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังไม่มีอาการและรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ชายยุคใหม่ ทีมีปัจจัยเสี่ยง ขอให้ตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากเมื่ออายุ 40 ปี แต่หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำ หมั่นใส่ใจสุขภาพมากขึ้นด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อุดมด้วยพืช ผัก ผลไม้ ลดอาหารมันและควบคุมคอเลสเตอรอล 

 

รวมทั้งมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะหากมีการดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจให้ดี ก็จะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยเงียบใกล้ตัวของผู้ชายที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก” นพ.วิรุณ กล่าว

 

สำหรับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันที่องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อบรรเทาปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หลังจากพบว่ามะเร็งคือแชมป์อันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละประมาณ 7,400,000 คน โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกายและความผิดปกติทางพันธุกรรม

 

นพ.วิรุณ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคน ให้เอาชนะโรคให้หายขาด เพราะมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง พร้อมปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็นโรคมะเร็ง ขอให้ป้องกันตนเอง อย่าประมาท ควรปฏิบัติตัวและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสียงต่อการเกิดโรค หมั่นดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคร้ายนี้ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ