ข่าว

มัดรวมมติ ครม. ให้ "สิทธิประโยชน์" ใกล้ตัวคุณ...เช็คที่นี่

เมื่อวานนี้( 1 ก.พ.) ครม. มีมติหลายเรื่องที่ให้ "สิทธิประโยชน์"ต่อประชาชน คมชัดลึกออนไลน์ มัดรวมสิทธิประโยชน์ใกล้ตัว ทั้งบัตรคนจน ปี 65 ใครมีสิทธิบ้าง - ลดเงินสมทบประสังคม ม.40 - เงินบำเหน็จชราภาพ ทายาทได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้น รายละเอียด...เช็คที่นี่

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ประจำปี 2565 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 20 ล้านคน ไปดูกันว่าในปีนี้ใครมี "สิทธิ "บ้าง


เกณฑ์ เงื่อนไข บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ประจำปี 2565

 

สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ผู้ที่มี "สิทธิ"ได้รับ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจนนั้น ต้องมีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่เป็นพระภิกษุ ผู้ต้องขังหรือบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ รวมไปถึงพนักงานราชการ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐ


เงื่อนไขรายได้

-ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมฯ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี 

 

-รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี 

 

-ไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งแต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท  วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท
 

 

เงื่อนไขอื่นๆ

-ต้องไม่มีบัตรเครดิต

 

-ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือ มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ (เดิม เกษตรกร มีที่ดิน ไม่เกิน 10 ไร่ ไม่ใช่เกษตรกร มีที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ บ้านไม่เกิน 25 ตารางวา ห้องชุดไม่เกิน 35 ตารางเมตร)

 

กรณีไม่มีครอบครัว สามารถเช็คเงื่อนไขเข้าร่วมได้ ดังนี้ 

-มีห้องชุด ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

 

-ที่ดินแยกออกจากที่อยู่อาศัย (จะต้องมีขนาดพื้นที่รวมกันทั้งหมดเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 10 ไร่ ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 1 ไร่)

 

-กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรไม่เกิน 1 ไร่

 

-กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน) บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ห้องแถว และตึกแถว ไม่เกิน 25 ตารางวา ใช้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่เกิน 10 ไร่หรือกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรไม่เกิน 1 ไร่

กรณีมีครอบครัว สามารถเช็คเงื่อนไขเข้าร่วมได้ ดังนี้

หากมีห้องชุดต้องเป็นเจ้าของแยกจากกันไม่เกิน 35 ตารางเมตรต่อคน

 

เป็นเจ้าของร่วมกันไม่เกิน 35 ตารางเมตร ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย (จะต้องมีขนาดพื้นที่รวมกันทั้งหมด เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 20 ไร่ ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 2 ไร่)

 

กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 ไร่

 

ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 20 ไร่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน) บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ห้องแถว และตึกแถว

 

เป็นเจ้าของแยกจากกัน ไม่เกิน 25 ตารางวาต่อคนกรณีเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่เกิน 25 ตารางวา ใช้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่เกิน 10 ไร่ หรือกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 2 ไร่

 

การเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ประจำปี 2565 สามารถเข้าร่วมได้ที่หน่วยรับลงทะเบียน ประกอบด้วย

 

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

 

ธนาคารออมสิน

 

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

กรมบัญชีกลาง

 

กระทรวงมหาดไทย (ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ)

 

สำนักงานเขตกรุงเทพมหานาคร

 

สำนักงานเมืองพัทยา หรือ ณ สถานที่ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนกำหนด หรือ ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์โครงการกำหนด
 

ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 - 31 ก.ค. 2565

 

โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดทั้ง 3 ทางเลือก ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอดังนี้


ทางเลือกที่ 1 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ "ประโยชน์ทดแทน" ใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

 

ทางเลือกที่ 2 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ "ประโยชน์ทดแทน" ใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ

 

ทางเลือกที่ 3 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ "ประโยชน์ทดแทน" ใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

 

ทั้งนี้ แม้การลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นเวลา 6 เดือน จะทำให้กองทุนประกันสังคมได้รับเงินสมทบลดลง แต่ยังคงมีเงินสมทบเพียงพอสำหรับรายจ่าย "ประโยชน์ทดแทน" ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนในระยะยาว อีกทั้งการปรับลดเงินสมทบดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกันตนมีกำลังซื้อมากขึ้น อันจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

 

ครม.ผ่านร่างกฎกระทรวงแรงงาน ปรับสูตรคำนวณ เงินบำเหน็จชราภาพ กรณีผู้ประกันตนที่รับบำนาญเสียชีวิต ให้ทายาทได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้น


คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและอัตรา"จ่ายประโยชน์ทดแทน"ในกรณี  เงินบำเหน็จชราภาพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการ "จ่ายประโยชน์ทดแทน" ในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550

 

โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การ "จ่ายประโยชน์ทดแทน"ในกรณีชราภาพ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้รับ เงินบำเหน็จชราภาพ  ในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ให้ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

 

1.ผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับ เงินบำนาญชราภาพ  ให้จ่าย เงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย เป็น จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน 

 

ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท โดยได้รับมาแล้ว 20 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60 - 20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท 

 

2.บุคคลซึ่งถูกงดการจ่าย เงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนและความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงด้วยเหตุเสียชีวิต หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนครั้งสุดท้าย

 

ก่อนกลับเขาเป็นผู้ประกันตน เป็น จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน


ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับ "เงินบำนาญชราภาพ" มาแล้ว 20 เดือน ต่อมากลับเข้ามาทำงาน เงินบำนาญชราภาพดังกล่าวจะถูกงดจ่าย และเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60 - 20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท

 

3.กำหนดให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับและรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว และจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

 

ทั้งนี้ที่ประชุมให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการ และจะให้ส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

ข่าวยอดนิยม