ข่าว

เรียนรู้ตำนาน "เขาวงพระจันทร์" ก่อนขึ้นบันได 3,790 ขั้น กราบรอยพระพุทธบาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หลวงพ่อโอภาสี" ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา

หลังจาก “เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาวงพระจันทร์” ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ประจำปี 2565 เริ่มขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยปีนี้ทางวัดเขาวงพระจันทร์จะเปิดให้ประชาชนได้ขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท รวม 15 วัน 15 คืน คือตั้งแต่วันที่ 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2565

 

เนื่องจากสถานการณ์การแพรระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทางวัดเขาวงพระจันทร์ จึงงดจัดงานรื่นเริง หรือมโหรสพต่างๆ แต่ยังมีการเปิดไฟอำนวยความสะดวกให้ผู้แสวงบุญเดินขึ้นบันได 3,790  ขั้น เพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปรู้จักตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ก่อนตัดสินใจก้าวขึ้นบันได 3,790 ขั้น เพื่อกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา

 

"ท้าวกกขนาก" ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระราม ตามตำนานเรื่องรามเกียรติ์ จึงถูกพระรามแผลงศร โดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่วข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกที่ยอดเขาลูกนี้ แล้วพระรามก็สาบให้ศรปักอกเอาไว้หากวันใดที่ศรเขยื้อนจะให้หนุมานลูกพระพาย (ลูกลม ถ้าตายเมื่อต้องลมพัดผ่าน จะกลับฟื้นคืนชีพ หนุมานจึงไม่รู้จักตาย) เอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม แต่ยักษ์โดนเข้าขนาดนี้ก็ยังไม่ตายนอนรอความตาย ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวท้าวกกขนากก็เหาะตามมาเพื่อปรนนิบัติดูแลพ่อ เพราะพ่อยังไม่ตาย ท้าวกกขนากได้แต่นอนแอ้งแม้งอยู่ในถ้ำยอดเขานางพระจันทร์นี้และต่อมาเมื่อนางทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร จึงเป็นเหตุผลให้เมืองลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายมานาน จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า "เขานงประจันต์" หรือ "นางพระจันทร์"

 

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 "หลวงพ่อโอภาสี" ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง4 ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" นับตั้งแต่นั้นมา

logoline