ข่าว

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ เร่งจัดการ "เมล็ดพันธุ์" หลังการเก็บเกี่ยว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ เร่งทำแผนการจัดการ "เมล็ดพันธุ์" หลังการเก็บเกี่ยว มีการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดแผนปฏิบัติงานพร้อมกัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องทั้งระบบ

นายสิทธิชัย ม่วงงาม ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ กล่าวว่า การปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ให้ได้ "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก โดยมีการควบคุมตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในระหว่างการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ซึ่งผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องพิจารณาถึงต้นทุนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ความต้องการของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของราคาข้าว

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ เร่งจัดการ "เมล็ดพันธุ์" หลังการเก็บเกี่ยว

                                                       สิทธิชัย ม่วงงาม 

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่มงานสำคัญ คือ กลุ่มงานผลิตเมล็ดพันธุ์ กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ และกลุ่มงานควบคุมคุณภาพ ที่จะต้องมีการวางแผนการปฏิบัติงานล่วงหน้า แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการประสานแผนก่อนการปฏิบัติงาน เพื่อการวางแผนในเบื้องต้น ภายหลังจากที่ได้กำหนดแผนการผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" เป็นรายพืช/พันธุ์/ฤดู/ปี โดยมีการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดแผนปฏิบัติงานพร้อมกัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องทั้งระบบ โดยมีรายละเอียดการประสานงานกับงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการวางแผนปฏิบัติงาน

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ เร่งจัดการ "เมล็ดพันธุ์" หลังการเก็บเกี่ยว

อย่างไรก็ตามหากมีการปรับเปลี่ยนแผนก็สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานร่วมกันได้ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว และจากนั้นจะเป็นการประสานแผนระหว่างการปฏิบัติงาน แม้ว่าจะมีการจัดทำแผนการปฏิบัติในเบื้องต้นร่วมกันอย่างดีแล้วก็ตาม

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ เร่งจัดการ "เมล็ดพันธุ์" หลังการเก็บเกี่ยว

แต่ระหว่างการปฏิบัติงานจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงานในระหว่างการทำงาน สาเหตุจากการผลิต"เมล็ดพันธุ์"เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด บางครั้งขึ้นกับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ โรคแมลงระบาด รวมถึงความต้องการชนิดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์
 

นายโอภาส ประภัสโร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า การเตรียมการก่อนการปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" ภายหลังจากการกำหนดแผนการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว การจัดทำแผนการจัดการ "เมล็ดพันธุ์"ภายหลังการเก็บเกี่ยว จะทำให้ทราบว่าในแต่ละช่วงเวลาจะมีการดำเนินงานกับเมล็ดพันธุ์ข้าว/ชั้นพันธุ์/ฤดู/ปี เมื่อใด

 

ดังนั้นก่อนการปฏิบัติงานในแต่ละฤดู จะต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร สถานที่และเครื่องจักรอุปกรณ์ โดยกระบวนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

 

การลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ 

ความชื้นของเมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดคุณภาพ และอายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์  "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ควรมีความชื้นน้อยกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ จึงจะช่วยยืดอายุในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยปกติในการเก็บเกี่ยวความชื้นของเมล็ดพันธุ์ข้าวจะสูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเก็บเกี่ยว วิธีการลดความชื้นของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ใช้ถังอบลดความชื้น ซึ่งควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 43 องศาเซลเซียส เพื่อลดความชื้นโดยที่ยังรักษาความมีชีวิตของ"เมล็ดพันธุ์ข้าว"
            

การคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์

การคัดทำความสะอาด "เมล็ดพันธุ์" หมายถึงการคัดแยกสิ่งเจือปนอันไม่พึงประสงค์ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวออกไป เช่น เมล็ดวัชพืช เมล็ดพันธุ์ที่แตกหักไม่สมบูรณ์ เศษฟาง ดิน เป็นต้น เพื่อให้ได้ "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น การคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยใช้เครื่องคัดทำความสะอาดเบื้องต้น เพื่อคัดแยกสิ่งเจือปนขนาดใหญ่ หรือแกลบออกก่อนที่จะนำเมล็ดพันธุ์เข้าอบลดความชื้น

 

เมื่อเมล็ดพันธุ์ผ่านเครื่องอบลดความชื้นแล้ว จะเข้าสู่เครื่องคัดทำความสะอาดด้วยตะแกรงและแรงลมที่จะเป่าสิ่งเจือปนที่น้ำหนักเบาออก และสุดท้ายเมล็ดพันธุ์เข้าเครื่องคัดทำความสะอาดด้วยความถ่วงจำเพาะ ซึ่งคัดเมล็ดหัก เมล็ดไม่สมบูรณ์ออก ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดทำความสะอาดแล้ว ไม่มีสิ่งเจือปนเกินมาตรฐาน เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี 

 

การคลุกสารเคมีและการบรรจุเมล็ดพันธุ์

หลังจากเมล็ดพันธุ์ผ่านการปรับปรุงสภาพโดยการอบลดความชื้นและการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์แล้ว เมล็ดพันธุ์จะถูกนำไปคลุกสารเคมีเพื่อป้องกันความเสียหายจากศัตรูต่าง ๆ ในระหว่างการเก็บรักษา เช่น มอดข้าวเปลือก ผีเสื้อข้าวเปลือก รวมทั้งป้องกันโรคที่อาจติดมากับเมล็ด เช่น โรคถอดฝักดาบ การคลุกสารเคมีให้กับเมล็ดมักใช้สารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา และสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง  

 

การบรรจุเมล็ดพันธุ์

เมื่อเมล็ดพันธุ์คลุกสารเคมีเสร็จแล้ว ก็พร้อมไปสู่กระบวนการบรรจุกระสอบพลาสติกสานเพื่อจำหน่ายต่อไป โดยการบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงในกระสอบนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาและการขนส่ง อีกทั้งเป็นการป้องกันอันตรายจากความชื้น แมลง นก หนู  และศัตรูอื่น ๆ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการบรรจุเมล็ดพันธุ์คือ เครื่องชั่งน้ำหนักและบรรจุอัตโนมัติ โดยจะบรรจุกระสอบละ 25 กิโลกรัม กระสอบพลาสติกสานที่บรรจุต้องมีการติดฉลากแสดงรายละเอียดสินค้า เช่น ชื่อพันธุ์ ชั้นพันธุ์ วันเดือนปีที่ผลิต สถานที่ผลิต เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ