ข่าว

ครม.ไฟเขียว แนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจาก "มาตรฐานการอุดมศึกษา"

ครม.ไฟเขียว แนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจาก "มาตรฐานการอุดมศึกษา"

01 ก.พ. 2565

ครม.ไฟเขียว แนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจาก "มาตรฐานการอุดมศึกษา" หรือHigher Education Sandbox เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผลิตหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ยกระดับนวัตกรรมการศึกษา

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนทั้งปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที สอดรับกับบริบทโลกในปัจจุบันและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ครม.จึงมีมติเห็นชอบมอบอำนาจให้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) 

 

และมีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาแทน ครม. โดยให้ถือว่าการอนุมัติและความเห็นชอบดังกล่าวเป็นมติของ ครม. ซึ่งการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษานี้ 

มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่นทั้งรัฐและเอกชน ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดยมีแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา อาทิ

 

1.การทดลองใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่อาจยังไม่มีมาตรฐาน การอุดมศึกษาในปัจจุบันมารองรับ เช่น (1)การใช้ระบบออนไลน์เข้ามาแทนที่การเรียนในห้อง

 

 (2)การจัดการเรียนการสอนในลักษณะหลักสูตรระยะสั้นประกอบการเรียนรู้ทฤษฎีร่วมกับการฝึกปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม และ (3)จับคู่ภาคเอกชนเพื่อร่วมผลิตนักศึกษา เป็นต้น

2.ปรับปรุงกฎระเบียบบางประการที่เป็นข้อจำกัดต่อการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ โดยปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวม 4 ฉบับ เช่น กฎกระทรวงว่าด้วยด้านมาตรฐานการจัดการระดับอุดมศึกษา กฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา 

 

และกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา เป็นต้น เพื่อให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมการผลิตบัณฑิตมากขึ้น เช่น

 

(1)สามารถให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่เป็นที่ยอมรับจากภาคอุตสาหกรรมมาเป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาได้ 
 

(2)ลดจำนวนหน่วยกิตในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและลดเวลาหลักสูตรในการเรียนให้เหลือเพียง 3 ปี หรือน้อยกว่า เป็นต้น และจะมีผลกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต่อไป ในระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ 

 

หากสถาบันอุดมศึกษาต้องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ก็จะสามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรา 69 พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นการยกเว้นมาตรฐานการอุดมศึกษาสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการอนุมัติเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการอุดมศึกษาใหม่

 

3.สภานโยบายฯ ได้ประกาศข้อกำหนด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2564 (ประกาศ ณ วันที่ 27 ก.ย.2564) เพื่อใช้เป็นแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาและระดับต่ำกว่าปริญญาทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่ในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา สามารถเสนอขอจัดการศึกษาที่แตกต่างจาก "มาตรฐานการอุดมศึกษา" ได้

 

4.มีกลไกและมาตรการในการกำกับติดตามประเมินผล และพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะมีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลโดยคณะผู้ประเมินผลอิสระ

 

“การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษานี้ จะเกิดประโยชน์ในการ

1)ผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

 

2)เกิดนวัตกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

 

3)เกิดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สามารถจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้” นางสาวรัชดา กล่าว