ข่าว

เปิดตำนาน "เขาคิชฌกูฏ" กราบรอยพระพุทธบาทแห่งศรัทธา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้ตำนาน "เขาคิชฌกูฏ" สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองจันท์ กับเหตุผลว่าทำไมนักแสวงบุญถึงหลั่งไหลไปเยือนแบบไม่ขาดสาย

กำลังจะเปิดให้นักแสวงบุญขึ้นไปกราบไหว้ ขอพรรอยพระพุทธบาท บนยอด "เขาคิชฌกูฏ" ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ - 2  เมษายน 2565 หรือตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ไปจนถึง ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน แต่ถึงแม้จะเปิดให้ขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทเป็นระยะเวลานานถึง 2 เดือนเต็ม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของนักแสวงบุญ แต่จะด้วยเหตุผลใดที่ทำที่คนหลั่งไหลไปยัง “เขาคิชฌกูฏ” วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปเปิดตำนานสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ด้วยกัน

 

พระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง)

บนยอดเขาคิชฌกูฏมีรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า พระบาทเขาคิชฌกูฏ หรือ พระบาทพลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลพลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลพลวง กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ ห่างจากตัวจังหวัดทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ "รอยพระพุทธบาท” มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กิโลเมตร

 

ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง)

 

พระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง และเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขาม ผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ กล่าวไว้โดยย่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะได้พากันขึ้นไปบนเขาหาไม้กฤษณา ไม้กะลำพัก 5 มาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่บนเขาเป็นเวลาหลายวัน และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่ เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย

 

ต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อ.เมือง จ.จันทบุรี รุ่งขึ้นก็มีงานเทศกาลปิดรอยพระพุทธจำลอง นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น เมื่อปิดแล้วจึงพูดขึ้นว่ารอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ทราบ ขณะนั้นหลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี จึงเรียกนายติ่งมาสอบถาม แล้วพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็เป็นความจริง และตรวจดูตามบริเวณนั้นทั่วๆ ท่านเจ้าคณะและพระสงฆ์ที่ติดตามไปได้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วนตามหลักของพระพุทธศาสนา และทั้งหมดต่างลงความเห็นว่า รอยเท้ามนุษย์ตรงหน้านี้ เป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

 

จากนั้น ท่านเจ้าคณะได้ปรารภกับทุกคนว่า "เป็นบุญเป็นลาภของชาวจันท์ที่ได้มีสิ่งอันล้ำค่าอย่างนี้" จากนั้นจึงพากันกราบไหว้ด้วยความปลาบปลื้มใจ และพากันเดินทางกลับ

 

“หลวงพ่อเขียน” เจ้าตำนาน “เขาคิชฌกูฏ” แห่งเมืองจันท์

 

แม้รอยพระพุทธบาทจะถูกค้นพบมาตั้งแต่ ปี 2397 แต่ผู้ที่มาบุกเบิกเปิดตำนานรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ให้คนรู้จัก และให้พุทธศาสนิกชนได้เดินทางขึ้นไปกราบไหว้สักการะในความศักดิ์สิทธิ์ก็คือ “หลวงพ่อเขียน” เขียน ขันธสโร หรือ พระครูธรรมสรคุณ (ผู้ล่วงลับ) โดยในปี พ.ศ.2515 หลวงพ่อเขียนได้บุกเบิกทางขึ้น และนำรถยนต์ขึ้นเขาเป็นครั้งแรก ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเส้นทางขึ้นเขาให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ