ข่าว

"ดร.สามารถ" เปรียบเทียบบทลงโทษฝ่าฝืนข้อห้าม “ทางม้าลาย” ไทย VS ญี่ปุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊กเปรียบเทียบ บทลงโทษการฝ่าฝืนข้อห้าม “ทางม้าลาย” ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หลังเกิดอุบัติเหตุกับ "หมอกระต่าย" จนเสียชีวิต ชี้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เคารพกฎ กติกาสังคม ขณะที่ผู้ขับขี่คนไทย ส่วนหนึ่งไม่เคารพกฎจราจร

วันนี้ (28 ม.ค.) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  โพสต์เฟซบุ๊ก Dr.Samart Ratchapolsitte กล่าวถึงบทลงโทษการฝ่าฝืนข้อห้าม “ทางม้าลาย” เปรียบเทียบระหว่าง ไทยกับญี่ปุ่น  โดยระบุเนื้อหาว่า
เทียบชัดๆ !
บทลงโทษฝ่าฝืนข้อห้าม “ทางม้าลาย”
ไทย VS ญี่ปุ่น
จากกรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ถูกตำรวจขับบิ๊กไบก์ชนขณะข้ามทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา จนเสียชีวิต สร้างความเสียใจให้กับผู้ทราบข่าวยิ่งนัก มีการพูดกันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจนี้ก็เพราะบทลงโทษของเราไม่รุนแรง ทำให้มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย สู้บทลงโทษของญี่ปุ่นไม่ได้ เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ? ติดตามได้จากบทความนี้

 

1. ทำไมจึงต้องเปรียบเทียบบทลงโทษกับญี่ปุ่น ?
เหตุที่ต้องเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นก็เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน) การเปรียบเทียบจะทำให้รู้ว่าเป็นเพราะบทลงโทษหรือไม่ ? จึงทำให้คนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกทั้ง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยจำนวนไม่น้อยได้ไปเยือนมาแล้ว ได้มีโอกาสสัมผัสกับการใช้รถใช้ถนนรวมทั้งการข้ามทางม้าลาย ทำให้การเปรียบเทียบเป็นที่เข้าใจได้ง่าย
 

 

2. บทลงโทษของไทยไม่รุนแรงเหมือนของญี่ปุ่นจริงหรือ ?
จากการเปรียบเทีบบทลงโทษในการฝ่าฝืนข้อห้าม “ทางม้าลาย” ระหว่างของไทยกับของญี่ปุ่นในแต่ละฐานความผิด ได้ผลดังนี้

(1) ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
บทลงโทษของไทยจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในขณะที่ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือถูกปรับไม่เกิน 50,000 เยน (ประมาณ 15,000 บาท)

(2) ขับรถชนคนข้ามทางม้าลายได้รับบาดเจ็บ
บทลงโทษของไทยจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (ประมาณ 300,000 บาท)

(3) ขับรถชนคนข้ามทางม้าลายเสียชีวิต
บทลงโทษของไทยจะถูกจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ในขณะที่ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (ประมาณ 300,000 บาท)
จากการเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่าบทลงโทษของไทยมีทั้งที่รุนแรงน้อยกว่าและรุนแรงมากกว่าของญี่ปุ่น แต่ทำไมไทยจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่าญี่ปุ่นมาก ? หรือ ทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก ?

3. ทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก ?
ในเมื่อบทลงโทษของญี่ปุ่นมีทั้งรุนแรงมากกว่าและรุนแรงน้อยกว่าบทลงโทษของไทย แล้วทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก ? ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ
(1) ญี่ปุ่นมีการเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังมากกว่าไทย ?
(2) ญี่ปุ่นใช้มาตรการทางวิศวกรรมจราจรอย่างเต็มที่ เช่น สีทางม้าลายชัดเจน มีเครื่องหมายจราจรบนถนนเตือนก่อนถึงทางม้าลาย มีป้ายจราจรที่ชัดเจนและเพียงพอให้ผู้ขับขี่รู้ว่าข้างหน้ามีทางม้าลาย ซึ่งจะต้องลดความเร็ว มีไฟฟ้าแสงสว่างเพียงพอ มีการทาสีให้เป็นแถบนูน (Rumble Strip) ทำให้มีเสียงดังเมื่อขับรถผ่านก่อนถึงทางม้าลาย และบางแห่งมีการยกระดับทางม้าลายให้สูงกว่าระดับถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่เห็นทางม้าลายและคนที่กำลังข้ามทางม้าลายได้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น 

 

(3) คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เคารพกฎ กติกาสังคม คนที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นจะพบว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ทำตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เช่น ข้ามถนนบนทางม้าลาย ไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ ไม่ส่งเสียงดังในร้านอาหาร มีการเข้าคิวทุกการใช้บริการ ฯลฯ หรือคนที่เคยไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่นคงเคยมีประสบการณ์ในการแยกขยะก่อนนำถุงขยะไปวางไว้ตามจุดและเวลาที่กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม มีการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีผู้ขับขี่ในบางเมืองของญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ไม่หยุดรถหน้าทางม้าลายที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร

 

(4) สอบใบขับขี่ในญี่ปุ่นยากมาก
การได้ใบขับขี่ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากมาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน จึงอาจทำให้คนญี่ปุ่นขยาดกับการทำผิดกฎจราจร เพราะเมื่อทำผิดจะถูกพักการใช้ใบขับขี่หรือเพิกถอนใบขับขี่ก็ได้

 

ในญี่ปุ่นกระบวนการขอรับใบขับขี่จะต้องผ่านการอบรมที่โรงเรียนสอนขับรถถึง 48 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ประกอบด้วยขั้นตอนที่ 1 มีการอบรมทฤษฎี 10 ชั่วโมง และฝึกหัดการขับรถในสนามฝึก 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นเป็นการทดสอบ หากสอบผ่านก็จะได้รับใบขับขี่ฉบับชั่วคราวเพื่อเข้าอบรมขั้นตอนที่ 2 ต่อไป ซึ่งจะมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขับรถบนท้องถนนร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปลอดภัย 16 ชั่วโมง และยังมีการฝึกหัดขับรถบนถนนจริงอีก 10 ชั่วโมง แล้วจะได้รับการประเมินความสามารถในการขับรถบนถนนจริงว่าสามารถขับรถได้หรือไม่ ? ถ้าได้ จะได้รับใบขับขี่ฉบับจริง โดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นจะใช้เวลาในการอบรมและสอบเพื่อรับใบขับขี่ประมาณ 3 เดือน เสียค่าใช้จ่ายขั้นต่ำประมาณ 100,000 บาท

ในขณะที่ในไทยจะต้องเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนสอนขับรถของกรมการขนส่งทางบก หรือที่โรงเรียนเอกชนที่กรมฯ รับรองเป็นเวลา 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 5 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 10 ชั่วโมง กรณีอบรมที่โรงเรียนของกรมฯ จะเสียค่าใช้จ่าย 650 บาท ส่วนกรณีอบรมที่โรงเรียนเอกชน จะเสียค่าใช้จ่าย 2,000-6,000 บาท 

 

4. สรุป
อุบัติเหตุจราจรในไทยเกิดจากข้อบกพร่องของผู้ขับขี่เป็นส่วนใหญ่ เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ขับขี่ในบ้านเรา ส่วนหนึ่งไม่เคารพกฎจราจร ด้วยเหตุนี้ พวกเราทั้งราษฎร์และรัฐจะร่วมมือร่วมใจกันแก้ขอบกพร่องนี้ได้อย่างไร ? เพื่อไม่ให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ