คปภ.ถกด่วน "อาคเนย์ประกันภัย" ขอเลิกกิจการ "เจอ จ่าย จบ" ทำขาดทุน 9,900 ล้าน
คปภ. ถกด่วน เหตุ "อาคเนย์ประกันภัย" ขอยกเลิกกิจการขาดทุนจาก "เจอ จ่าย จบ" 9,900 ล้านบาท เร่งหาทางออกส่งต่อกรมธรรม์ที่ค้างอยู่ทั้งโควิด-อุบัติเหตุ
จากกรณีการขอยกเลิกกิจการของ "อาคเนย์ประกันภัย" เนื่องจากเกิการขาดทุนจากการประกันโควิด "เจอ จ่าย จบ" ส่งผลให้ขาดทุนกว่า 9,900 ล้าน และไม่สามารถดำเนินการกิจการต่อไปได้ ล่าสุดความเคลื่อนไหวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แจ้งว่า ในวันนี้ ( 27 ม.ค.) คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย มีการพิจารณาคำขอของบริษัทอาคเนย์ ประกันภัยในการขอเลิกกิจการ และการส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดยจะพิจารณาแผนการคืนใบอนุญาตว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการดูแลผลประโยชน์ของผู้เอาประกัน และผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงดูว่าหากผู้เอาประกันไม่เห็นด้วย ที่จะรับคืนเบี้ยประกันคืน ทางบริษัทจะมีแผนดำเนินการอย่างไร
และในวันที่ 28 ม.ค.นี้จะเสนอผลการประชุมให้ คณะกรรมการ คปภ. ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พิจารณาคำขอการคืนใบอนุญาต ซึ่งจะพิจารณามีสาระสำคัญตามมาตรา 57 ซึ่งระบุว่า บริษัทใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการ คปภ.พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามจากกรณีการขอยกเลิกกิจการของ "อาคเนย์ประกันภัย" หรือบริษัทประกันอื่น ๆ นั้น คณะกรรมการ คปภ. มีอำนาจหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ซึ่งบริษัทจะต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนขอยกเลิกกิจการ เช่น วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีผลผูกพันอยู่ว่าจะมีผลอย่างไร รวมทั้งวิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ และใช้สิทธิตามกฎหมาย การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน และการจัดการทรัพย์สิน และหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัย และกิจการที่ขออนุญาต เป็นต้น
หากบอร์ด คปภ.ไม่เห็นชอบแผน มีสิทธิไม่รับการขอเลิกกิจการจาก อาคเนย์ประกันภัยได้ ซึ่งจะทำให้การบอกเลิกกิจการนั้นยังไม่มีผลโดยสมบูรณ์ และจะต้องคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันอยู่จนกว่าจะได้รับอนุมัติจาก บอร์ด คปภ.
ทั้งนี้ คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย