ข่าว

GISTDA เผย 3 จังหวัดภาคเหนือ เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าในสัปดาห์นี้

GISTDA เผย 3 จังหวัดภาคเหนือ เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าในสัปดาห์นี้

24 ม.ค. 2565

ข้อมูลจากดาวเทียมชี้ ตาก ลำปาง เชียงใหม่ เสี่ยงสูงเกิดไฟป่า ช่วงวันที่ 24 - 30 มกราคมนี้ ขณะที่จุดความร้อนทั่วประเทศเพิ่มอีกกว่า 100 จุด เร่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลภาพจากดาวเทียมระบบ MODIS ว่า จากการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด พบข้อมูลที่แสดงให้เห็น 17 จังหวัดภาคเหนือยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยในช่วง 7 วันนี้ มี 3 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า ได้แก่ ตาก ลำปาง และเชียงใหม่ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม อีก 14 จังหวัดที่เหลือ ก็ยังคงมีตัวเลขคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า  โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์  สาเหตุอาจเกิดจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก หรือการเผาเพื่อหาของป่าจนทำให้เกิดการลุกลาม

GISTDA เผย 3 จังหวัดภาคเหนือ เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าในสัปดาห์นี้

GISTDA  ยังเปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วันที่ 23 มกราคม 2565 ว่าพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 162 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 111 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่เกษตร 54 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 48 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 23 จุด พื้นที่เขต สปก. 21 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 14 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 2 จุด

สำหรับจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด คือ ตาก 20 จุด , ลำปาง 13 จุด ,  กาญจนบุรี 13 จุด ตามลำดับ ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน (17 – 23 มกราคม 2565) ทั้งนี้จากภาพแสดงให้เห็นว่า จุดความร้อนมีจำนวนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง 

GISTDA เผย 3 จังหวัดภาคเหนือ เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าในสัปดาห์นี้

ส่วนจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน พบมากสุดที่ เมียนมาร์ 607 จุด รองลงมาคือ กัมพูชา 312 จุด และอันดับที่ 3 เป็นประเทศไทย 162 จุด ซึ่งข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านบ้าน อาจส่งผลต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณแนวชายแดน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพกันด้วย

โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ