ข่าว

นักวิจัย "จี้ตรวจอาคารเก่า" ล้อมคอกผนังคอนกรีต ร่วงใส่คนย่านปทุมวัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิจัย "จี้ตรวจอาคารเก่า" และควรพิจารณาออกกฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกัน การร่วงหล่นของสิ่งประกอบอาคาร เพื่อความปลอดภัยของประชาชน หลังเกิดเหตุผนังคอนกรีตร่วงใส่คนย่านปทุมวัน

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และนักวิจัยในชุดโครงการ “ลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงเหตุการณ์กระเบื้องผนังคอนกรีตหลุดร่วงจากชั้น 8 ของอาคารเก่าบริเวณซอยเกษมสันต์ 1 เขตปทุมวัน ตกลงมาบนฟุตบาธ มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 5 ราย ว่าเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งสำหรับประชาชนในเขตพื้นที่ที่มีอาคารหนาแน่น "จี้ตรวจอาคารเก่า"

 

นักวิจัย "จี้ตรวจอาคารเก่า" ล้อมคอกผนังคอนกรีต ร่วงใส่คนย่านปทุมวัน

 

ทั้งนี้สาเหตุที่สิ่งของร่วงหล่นลงมาอาจมีหลายปัจจัย เช่น 1. อาคารเก่า เกิดการเสื่อมสภาพของวัสดุ ทำให้สิ่งประกอบอาคารเสื่อมสภาพและหลุดออกมาจากตัวอาคาร 2. การสั่นสะเทือนของอาคาร ที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น รถบรรทุกวิ่งผ่าน หรือหากมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต ก็อาจทำให้สิ่งประกอบอาคารหลุดออกมาได้

 

3. การติดตั้งหรือการยึดเกาะระหว่างสิ่งประกอบอาคารกับโครงสร้างไม่แข็งแรงเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารสูง อาจใช้แผ่นกระเบื้องขนาดใหญ่ตกแต่งผนังอาคาร แล้วใช้ปูนกาวยึดกับผนัง กระเบื้องเหล่านี้แต่ละแผ่นมีน้ำหนักมาก ซึ่งปูนกาวอาจเสื่อมสภาพแล้ว ทำให้สูญเสียการยึดเกาะของสิ่งประกอบอาคาร ทำให้หลุดร่วงลงมาได้

 

สำหรับมาตรการป้องกันการหลุดร่วงของสิ่งประกอบอาคารนั้น ปัจจุบันตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมอาคารตั้งแต่การก่อสร้าง ตลอดจนถึงการใช้งานต้องให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคารตลอดจนประชาชนที่ผ่านไปมา จึงได้มีมาตรา 32 ทวิ บัญญัติให้อาคาร 9 ประเภท ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือด้านสถาปัตยกรรมแล้วแต่กรณี ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร และรายงานผลการตรวจสอบต่อพนักงานท้องถิ่นตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง พ.ศ. 2550 



อาคาร 9 ประเภทที่ต้องทำการตรวจสอบ ได้แก่ 1. อาคารสูง (ความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป) 2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) 3. อาคารชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือจำนวนคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 4. โรงมหรสพ 5. โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 6. สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป 7. อาคารชุดหรืออาคารพักอาศัยรวม เช่น หอพัก หรืออพาร์ทเมนท์ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป

 

8. โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป 9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบอาคารตามมาตรา 32 ทวิดังกล่าว นอกจากจะต้องตรวจระบบโครงสร้างแล้วยังต้องตรวจสอบระบบอื่น ๆ ของอาคารด้วย เช่น ระบบดับเพลิง ระบบระบายอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการตรวจสอบอาคารที่ผ่านมาอาจเน้นที่การตรวจสอบเชิงโครงสร้าง เช่น การเกิดรอยร้าวในชิ้นส่วนต่าง ๆ ของอาคาร การทรุดเอียงของโครงสร้างและฐานราก และระบบอื่น ๆ


ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการร่วงหล่นของสิ่งประกอบอาคาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การตรวจสอบอาคารจึงควรเน้นสิ่งของที่ร่วงหล่นด้วย โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาออกกฎหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการร่วงหล่นของสิ่งประกอบอาคารเหล่านี้ให้ชัดเจนเพิ่มเติมด้วย อีกทั้งในอนาคตอาคารอาจจะได้รับแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงขึ้นจากเหตุต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว

 

ดังนั้น เจ้าของอาคารจึงควรจัดให้มีการตรวจสอบอาคารอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องตรวจสอบรายงานและต้องลงตรวจพื้นที่จริงประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารเก่าที่มีการก่อสร้างมานานแล้ว  


 

เครดิตภาพ นาวาโทยุทธเศรษฐ วังกานนท์
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ