ข่าว

"หมอกระต่าย" ไม่ใช่รายแรก ย้อนรอยเหตุสลด ชนคนบนทางม้าลาย ที่มาตีเส้นซิกแซก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอกระต่าย" ไม่ใช่รายแรก ย้อนไทม์ไลน์ "โศกนาฏกรรม" รถชนคนบน "ทางม้าลาย" ปัญหานี้ จะแก้ไขได้หรือไม่ หรือ อยู่ที่วินัยคน ?

พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ "หมอกระต่าย" แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ไม่ใช่รายแรก ที่สังเวยชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนบน ทางม้าลาย "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปย้อนรอย “โศกนาฏกรรม” การข้ามถนนบน “ทางม้าลาย” ที่แก้เท่าไหร่ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำซากอยู่นับครั้งไม่ถ้วน จนหลายคนเกิดความสงสัยว่า การข้ามถนนในเมืองไทยนั้น มีทางม้าลายไว้เพื่ออะไร ทั้งที่ข้ามถนนแบบถูกกฎจราจรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่ดี จะหาความปลอดภัยจากทางม้าลายได้อย่างไรกัน?


เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2557 ถือเป็นความสูญเสียส่งท้ายปีสำหรับเหตุการณ์ รถฝ่าไฟแดงพุ่งชนพนักงานสาวแกรมมี่ขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต บริเวณหน้าตึกแกรมมี่ย่านอโศก เหตุการณ์ที่น่าสลดนี้ ทำให้พนักงานออฟฟิศย่านอโศกต่างพากันถือธงแดงข้ามถนน เพื่อวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแก้ไขตำแหน่งสัญญาณไฟ ให้มีความปลอดภัยมากกว่าที่เป็นอยู่

 

โดยเหตุการณ์น่าเศร้านี้ เกิดจากสัญญาณไฟทางเดินขัดข้อง ทำให้รถที่วิ่งผ่านมามองไม่เห็นสัญญาณไฟจราจร ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยเกิดอุบัติเหตุจนมีคนบาดเจ็บสาหัสมาแล้วหลายครั้ง เมื่อประเด็นข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ต่างมีคำถามกลับมามากมายว่าควรปรับปรุงเรื่องวินัยการจราจรในเมืองไทยเสียใหม่ดีหรือไม่

 

"หมอกระต่าย" ไม่ใช่รายแรก ย้อนรอยเหตุสลด ชนคนบนทางม้าลาย ที่มาตีเส้นซิกแซก

เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์เมื่อปี 2562 กรณี ว่าที่บัณฑิตถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลาย เพื่อไปทำงานเป็นวันแรก ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยวันที่เกิดเหตุ ผู้เสียชีวิตลงจากรถเมล์บริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง ถ.พระราม 9 เพื่อไปทำงานเป็นวันแรก ขณะที่กำลังเดินข้ามทางม้าลาย ได้มีรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์พุ่งชนจนทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดดังกล่าว โดยเหตุการณ์นี้ไม่สามารถตรวจสอบกล้องวงจรปิดของ สน.มักกะสัน ได้ เนื่องจากเป็นมุมที่ไม่สามารถมองเห็นบริเวณจุดเกิดเหตุ จึงต้องเร่งหากล้องวงจรปิดจากหน่วยงานอื่นบริเวณนั้น

 

“เส้นซิกแซ็ก” หยุด “โศกนาฏกรรมบนทางม้าลาย” ได้จริงหรือ?

โดยเมื่อปี 2558 ทางกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตรการ การป้องกันอุบัติเหตุบนทางม้าลาย โดยออกแบบ “เส้นซิกแซ็ก” หรือ เส้นเตือน "ทางม้าลาย" เพราะผู้ขับขี่มักมองสัญลักษณ์คนข้าม ทางม้าลาย หรือสัญญาณไฟจราจรไม่เห็น จนทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนคนขณะเดินข้ามบนทางม้าลาย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง

 

โดยลักษณะของการตีเส้นดังกล่าว จะเป็นเส้นหยักซิกแซ็ก เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดความสะดุดตา และยังเป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้ขับขี่ระวังในระยะ15เมตร ก่อนถึงเขตทางข้ามม้าลาย โดยการตีเส้นลักษณะนี้จะทำให้ผู้ขับขี่เกิดความรู้สึกว่า ช่องจราจรแคบลงและลดความเร็ว และหยุดรถโดยอัตโนมัติ

 

การตีเส้นซิกแซ็กนี้ จะทำควบคู่ไปพร้อมกับเส้นชะลอความเร็ว ลูกศร และข้อความลดความเร็วเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่รถชะลอ และลดความเร็วลงพร้อมที่จะหยุด หรือปฏิบัติตามสัญญาณไฟเพื่อให้คนข้ามถนนได้ข้ามถนนอย่างปลอดภัยเป็นเครื่องหมายเตือนอีกทางหนึ่ง

"หมอกระต่าย" ไม่ใช่รายแรก ย้อนรอยเหตุสลด ชนคนบนทางม้าลาย ที่มาตีเส้นซิกแซก

การตีเส้นถนนซิกแซ็กเพื่อชะลอความเร็วของรถยนต์นั้น ได้นำต้นแบบมาจากทางข้ามมาลายประเทศอังกฤษซึ่งสัญลักษณ์นี้ เป็นสัญลักษณ์การจราจรสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศอังกฤษเท่านั้น ประเทศศรีลังกาและสิงคโปร์ก็ใช้สัญลักษณ์นี้เช่นกัน และเหตุที่ต้องนำมาใช้กับถนนในประเทศไทย เป็นเพราะเกิดอุบัติเหตุจากการข้ามถนนบนทางม้าลาย เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้งเนื่องมาจากสาเหตุการขับรถเร็ว ผู้ขับขี่

 

แต่หลังจากที่มีมาตรการนี้ออกมา ก็ยังคงมีอุบัติเหตุ คนขับรถชนบน "ทางม้าลาย" กันอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่นกรณีล่าสุด ที่ “หมอกระต่าย ” หรือ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิตหลังถูกรถบิ๊กไบค์ ดูคาติ สีแดง ชนขณะข้ามทางม้าลาย ถ.พญาไท บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จนเสียชีวิต

 

ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จึงทำให้คนเดินถนนตั้งคำถามว่า หากคนขับไม่เคารพ "ทางม้าลาย" แล้วเส้นซิกแซ็กจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน? และปัญหานี้ ก็อยู่ที่คนมองไม่เห็นเส้น "ทางม้าลาย" หรืออยู่ที่จิตสำนึกของคนขับ ที่ไม่ตั้งใจจะหยุดรถกันแน่? ซึ่งเรื่องนี้ ก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันบนโลกโซเชียล โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มโทษให้กับผู้ขับขี่ ที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่แข็งแกร่งมากพอ เพื่อนำมาบังคับใช้กับผู้ขับขี่ ที่ขับรถโดยความประมาทหรือไม่? ก็ต้องรอติดตามกันต่อไป

"หมอกระต่าย" ไม่ใช่รายแรก ย้อนรอยเหตุสลด ชนคนบนทางม้าลาย ที่มาตีเส้นซิกแซก

 

"หมอกระต่าย" ไม่ใช่รายแรก ย้อนรอยเหตุสลด ชนคนบนทางม้าลาย ที่มาตีเส้นซิกแซก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ