ข่าว

ดินสไลด์สมุทรปราการ เหตุจากเป็นชั้นดินอ่อน ยังอาจเคลื่อนตัวได้อีก

ดินสไลด์สมุทรปราการ เหตุจากเป็นชั้นดินอ่อน ยังอาจเคลื่อนตัวได้อีก

22 ม.ค. 2565

นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ชี้ พื้นที่เกิดเหตุดินสไลด์บ้านพัง จ.สมุทรปราการ เป็นชั้นดินเหนียวอ่อนมาก ยังเคลื่อนตัวได้อีกถ้ามีฝน ความชื้น จนกว่าจะเข้าสู่จุดสมดุล

จากเหตุการณ์ดินสไลด์บริเวณท้ายซอยศรีสัมพันธ์ หมู่ 15 ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ส่งผลให้มีบ้านพังเสียหายกว่า 20 หลัง เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (21) 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และนักวิจัยในชุดโครงการ “ลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า

บริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ชั้นดินเหนียวอ่อนมาก มีค่ากำลังรับแรงเฉือนที่ต่ำ ซึ่งดินลักษณะนี้สามารถเคลื่อนตัวได้ง่าย นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังขุดบ่อไว้แต่เดิม ส่วนพื้นที่เกิดเหตุที่มีการสไลด์ตัวมีการถมดินและเทพื้นคอนกรีตทางด้านบน และมีการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่

ดินสไลด์สมุทรปราการ เหตุจากเป็นชั้นดินอ่อน ยังอาจเคลื่อนตัวได้อีก

สำหรับลักษณะการเคลื่อนตัวของดิน (land slide) ในครั้งนี้ถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ และทิศทางการเคลื่อนตัวไปหาบ่อ น่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น 1. ความแตกระหว่างแรงดันดิน ส่งผลให้ดินเกิดการเคลื่อนตัว 2. น้ำหนักกดทับของพื้นที่ที่ถมดินและมีการก่อสร้างอาคาร 3. ดินถมเคลื่อนตัวได้ง่ายและอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหากมีความชื้นหรือฝนตกก่อนหน้า 4. กำลังรับน้ำหนักหรือกำลังแรงเฉือนของดินลดลงเมื่อดินอุ้มน้ำหรือมีความชื้น

ในสถานการณ์ปัจจุบันการเคลื่อนตัวยังอาจเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีฝนตกหรือมีความชื้น  ก็อาจเคลื่อนตัวได้อีกจนกว่าจะเข้าสู่จุดสมดุล ดังนั้นประชาชนจึงควรรอฟังการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก่อนกลับเข้าพื้นที่ 

ดินสไลด์สมุทรปราการ เหตุจากเป็นชั้นดินอ่อน ยังอาจเคลื่อนตัวได้อีก

ศ.ดร.อมร กล่าวด้วยว่า เนื่องจากการขุดดินขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดดินสไลด์และเป็นอันตรายได้  จึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดว่าการขุดดินที่มีความลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร หรือมีพื้นที่ปากบ่อดินเกิน 10,000 ตารางเมตร  ต้องมีแบบแปลน รายการประกอบแบบ และรายการคำนวณของวิศวกรผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธาไม่ต่ำกว่าระดับสามัญวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

นอกจากนี้หากขุดดินที่มีความลึกเกิน 20 เมตร ต้องป้องกันพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยติดตั้งอุปกรณ์สำหรับวัดการเคลื่อนตัวของดินและต้องมีแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา ระดับวุฒิวิศวกร เป็นผู้ลงนามด้วย

และตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิศวกรรมควบคุม ปี 2550 ยังกำหนดให้การการก่อสร้างกำแพงกันดินหรือกันน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 1.5 เมตร เป็นวิศวกรรมควบคุมอีกด้วย

สำหรับบ่อดินที่ได้ขุดไว้นานแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินของบ่อจะต้องดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของบ่ออยู่ตลอด โดยมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร ดำเนินการตรวจวัดติดตามการเคลื่อนตัวของดิน ด้วยอุปกรณ์วัดต่าง ๆ หรือด้วยวิธีการทางวิศวกรรมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกอาจเกิดการสไลด์ตัวได้ง่าย หากพบว่าบ่อมีโอกาสจะพังทลาย จะต้องเสริมความแข็งแรงด้วยวิธีการตามหลักวิศวกรรม รวมถึงต้องระมัดระวังเรื่องการสูบน้ำออกจากบ่ออย่างทันทีทันใด ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้ผนังบ่อพังทลายได้ง่ายขึ้นเนื่องจากการสูญเสียแรงดันนั่นเอง