ข่าว

ส่องต้นแบบการขับเคลื่อนงานเลิกบุหรี่โดยทีมสหวิชาชีพ  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือ เกาะติด ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา ต้นแบบการขับเคลื่อนงานเลิกบุหรี่โดยทีมสหวิชาชีพ  

 

พญ.สุธี สฤษฎิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อเลิกบุหรี่ของศูนย์ฯ ว่า ได้จัดตั้งทีมช่วยเลิกบุหรี่ในรูปแบบสหวิชาชีพ ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา รวมทั้งนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อปรับทัศนคติและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่จะเลิกบุหรี่

 

พญ.สุธี สฤษฎิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

 

นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปขับเคลื่อนในโรงเรียน ภายใต้โครงการโรงเรียนสีขาว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนเริ่มสูบบุหรี่มวนแรก โดยเสริมทักษะชีวิตให้นักเรียนรู้จักการปฏิเสธบุหรี่จากคนอื่น เพิ่มความรู้ความเข้าใจของพิษภัยบุหรี่ หรือแม้แต่การติดตามกลุ่มที่สูบบุหรี่ในโรงเรียน พร้อมชักชวนคนที่อยากเลิกสูบให้เข้าสู่กระบวนการเลิกสูบบุหรี่ได้


ขณะเดียวกันในศูนย์ฯ ก็ต้องปลอดบุหรี่ด้วย โดยจะห้ามสูบบุหรี่ทั้งเจ้าหน้าที่และคนไข้ที่เข้ามารับบริการ หากเจ้าหน้าที่คนไหนยังสูบบุหรี่อยู่ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการบำบัด

 

ส่องต้นแบบการขับเคลื่อนงานเลิกบุหรี่โดยทีมสหวิชาชีพ  

สำหรับคนที่มีโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ก็จะอธิบายถึงผลเสียของการสูบบุหรี่และข้อดีของการเลิกสูบบุหรี่ พร้อมการเก็บข้อมูลทั้งค่าความดัน หรือน้ำตาลในเลือด หากมีการลดการสูบบุหรี่ได้จริงก็จะให้ข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า การลดสูบบุหรี่มีผลต่อค่าความดัน น้ำตาลและไขมันดีขึ้นอย่างไรบ้าง พร้อมแปะสติกเกอร์สำหรับคนที่หยุดสูบได้จริง เพื่อส่งสัญญาณให้กับทุกทีมที่ทำงานอยู่ในศูนย์ฯ ได้รับทราบ นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความรู้ใหม่ ๆ ที่ให้กับเจ้าหน้าที่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้าเพราะวัยรุ่นเริ่มหันมาสูบกันมากขึ้น 

 

ทพญ.ชวาศรี พูนวุฒิกุล ทันตแพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา

 

ขณะที่ ทพญ.ชวาศรี พูนวุฒิกุล ทันตแพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา กล่าวถึงบทบาทของทันตแพทย์ในการชวนและช่วยเลิกบุหรี่ว่า ด้วยการทำงานที่ต้องเห็นสุขภาพช่องปากของคนไข้ทุกวัน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยให้คนไข้เลิกสูบบุหรี่ โดยใช้กระบวนการ 5A เริ่มตั้งแต่การสอบถามข้อมูลเบื้องต้นถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ให้คำแนะนำถึงอันตรายของบุหรี่ พร้อมประเมินว่าติดบุหรี่มากน้อยเพียงใด

 

จากนั้นจะช่วยเหลือและสร้างแรงจูงใจในการรักษา จนสุดท้ายคือการติดตามผล โดยเทคนิคในการเลิกบุหรี่ที่แนะนำคนไข้คือ ขอให้สูบมวนแรกของวันให้ช้าที่สุด พร้อมคิดถึงเป้าหมายว่าจะต้องเลิกบุหรี่ให้ได้ ซึ่งทุกขั้นตอนจะโยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับบทบาทของทันตแพทย์ขณะทำการรักษาคนไข้ พร้อม ๆ กับการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ ทำให้งานช่วยเลิกบุหรี่ของศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นระบบมากขึ้น

 

"อยากฝากไปถึงทันตแพทย์ว่า การแนะนำหรือช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่เป็นสิ่งที่ทำให้คนไข้มีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าคนไข้จะเลิกไม่ได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่แนะนำไปก็จะติดอยู่ในใจ สักวันหนึ่งเมื่อคนไข้คิดขึ้นละเลิกและเลิกได้ ก็จะเป็นความภูมิใจของวิชาชีพเหมือนกัน และอยากฝากถึงผู้ที่สูบบุหรี่ทุกท่านว่า การสูบบุหรี่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อใคร หากต้องการจะเลิกก็สามารถมาปรึกษาได้ที่คลินิกทันตกรรม ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 เขตทวีวัฒนาได้"   ทพญ.ชวาศรี กล่าวทิ้งท้าย

 

นางสาวปัทมา ภู่ศรีสลับ ผู้ช่วยนักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา

 

ขณะที่นางสาวปัทมา ภู่ศรีสลับ ผู้ช่วยนักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา กล่าวว่า ทีมสหวิชาชีพได้มีการพัฒนานวัตกรรม "ภูเขาไฟเลิกบุหรี่" เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้ผู้รับบริการเห็นว่าบุหรี่มีสารพิษอะไรแฝงอยู่บ้าง ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง และทำให้เห็นโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือปอดของคนที่สูบบุหรี่หรือไม่สูบเป็นอย่างไรเพื่อให้ตระหนักถึงโรคจากการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีชาร์ตแสดงการประเมินความพร้อมของผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ หากยังลังเลก็จะเสริมความรู้เข้าไปเพิ่มขึ้น โดยวัดผลสำเร็จจากการเข้าถึงเส้นชัยตามรูปของภูเขาไฟ ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถช่วยจูงใจให้คนไข้เลิกบุหรี่ได้ เพราะทำให้เห็นภาพมากกว่าการให้คำปรึกษา หรือบางคนที่ไม่เคยสูบได้เห็นภาพก็อยากให้คนในครอบครัวเลิกบุหรี่ ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เข้ารับบริการได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ทุกคนแต่ก็ช่วยให้ลดจำนวนการสูบลงได้

 

ภญ.ธีร์นุตตรา เนตรโพธิ์แก้ว เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา

"ด้าน ภญ.ธีร์นุตตรา เนตรโพธิ์แก้ว เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา กล่าวว่า เภสัชกรจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการจ่ายยาช่วยเลิกบุหรี่แก่ผู้รับบริการ ให้คำแนะนำถึงขนาดยาและปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล เพื่อช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อย่างครบวงจร ซึ่งมียาทั้งหมด 4 ประเภท ตั้งแต่ยาบ้วนปากอดบุหรี่ ยาชงที่มีส่วนผสมของหญ้าดอกขาว หมากฝรั่งนิโคติน และยาเม็ดบูโพรพิออน พร้อมมองว่า การทำงานในรูปแบบของทีมสหวิชาชีพ จะทำให้คนไข้เกิดความกระตือรือร้นอยากเลิกบุหรี่ได้มากกว่า และเชื่อว่าการทำงานในรูปแบบสหวิชาชีพจะมีประโยชน์กับคนไข้ได้ไม่มากก็น้อย

 

ส่องต้นแบบการขับเคลื่อนงานเลิกบุหรี่โดยทีมสหวิชาชีพ  

ด้านนายสมภพ ฤทธิกุลประเสริฐ ตัวแทนผู้เข้ารับบริการเลิกบุหรี่จากทันตแพทย์ เล่าว่า ปัญหาที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากกว่า 40 ปี คือ เหนื่อยง่าย เมื่อมาพบทันตแพทย์ที่นี่ก็ได้รับการชักชวนพร้อมแนะนำให้เลิกบุหรี่ โดยชี้ให้เห็นถึงผลดีของการเลิกบุหรี่ แม้ช่วงแรกจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกที่ทันตแพทย์มาแนะนำ แต่จากความตั้งใจของตนเองที่อยากเลิก จึงใช้เวลาเพียง 3 วันก็สามารถเลิกได้อย่างเด็ดขาด จนถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่ได้รับเมื่อเลิกบุหรี่ คือหายใจได้คล่องมากขึ้น ออกกำลังกาย ด้วยการเดินเป็นระยะทาง 4 - 5 กิโลเมตร ประหยัดเงินไปได้เยอะมาก ขออยากฝากไปยังคนที่อยากเลิกบุหรี่ด้วยว่า การเลิกบุหรี่อยู่ที่ใจล้วน ๆ และกำลังใจจากคนรอบข้างคือสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เลิกได้ในที่สุด

 

ทพญ.สุคนธ์ บรมธนรัตน์ ประธานแผนงานคลินิกทันตกรรมสนับสนุนการเลิกบุหรี่ในกรุงเทพมหานคร วิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ

 

ด้าน ทพญ.สุคนธ์ บรมธนรัตน์ ประธานแผนงานคลินิกทันตกรรมสนับสนุนการเลิกบุหรี่ในกรุงเทพมหานคร วิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ เปิดเผยว่า แผนงานคลินิกทันตกรรมสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ในกรุงเทพมหานคร ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งมีภารกิจหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ สนับสนุนให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่จากคลินิกทันตกรรม ตรวจหาร่องรอยของโรคในช่องปากก่อนเป็นมะเร็งจากสาเหตุของการสูบบุหรี่ และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยมีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 79 แห่ง แบ่งเป็นคลินิกทันตกรรมที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ที่ทำการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครทั้ง 1 และ 2 จำนวน 2 แห่ง และโรงพยาบาลจากสำนักการแพทย์อีก 9 แห่ง 

 

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร กว่า 400 แห่ง เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยทันตแพทย์เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่แก่อาสาสมัครสาธารณสุขในโรงเรียน หากโรงเรียนไหนมีความสนใจ ก็จะพัฒนาเรื่องทักษะการปฏิเสธบุหรี่แบบ Edutainment แก่นักเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความสนุกและต้องการเรียนรู้เรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งแม้ว่าจะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ได้ปรับเปลี่ยนสื่อสารสอนให้เป็นรูปแบบออนไลน์ และได้รับความสนใจจากนักเรียนกว่า 9,000 คน ครอบคลุมโรงเรียน 224 แห่ง จนได้รับการต่อยอดทำสื่อการสอนออนไลน์เพิ่มเติม โดยเพิ่มประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปด้วย เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชน 

 

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทุกคนมีความสุขในการทำงาน เกิดความภาคภูมิใจ บางคนที่กลับมาสูบบุหรี่ซ้ำก็เข้ามารับคำปรึกษากับคลินิกทันตกรรม เพราะผู้ป่วยกันทันตแพทย์ที่ได้พูดคุยกันเรื่องการเลิกบุหรี่ได้อย่างใกล้ชิด จนสามารถเลิกได้ในที่สุด 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ