ข่าว

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้สูงอายุจาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อน ที่ยังติดต่อญาติไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว หากพบเห็น "ศูนย์ดูแลคนชรา" ไม่ถูกกฎหมายหรือไม่มีความเหมาะสมในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ไม่ถูกสุขลักษณะ โปรดแจ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นางอภิญญา ชมภูมาศ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยกับคมชัดลึกออนไลน์ ถึงกรณีการเข้าตรวจสอบ "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อน ในพื้นที่เขตลาดกระบัง และหนองจอก เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า จากการประสานความร่วมมือของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กองกำกับการ4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4บก.ปคบ.) กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กรุงเทพมหานคร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) กรมควบคุมโรค และมูลนิธิเส้นด้าย ในการเข้าตรวจค้นสถานดูแลผู้สูงอายุ 2 แห่ง ในพื้นที่เขตลาดกระบังและหนองจอก พบว่า จากการตรวจค้น "ศูนย์ดูแลคนชรา" ในพื้นที่ลาดกระบัง เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้จัดตั้ง ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ได้มาตรฐาน และจากการตรวจสอบพบผู้สูงอายุจำนวน 19 ราย สามารถติดต่อหาญาติได้จำนวน 15 ราย ในจำนวนนี้ ขณะรอญาติมารับได้ฝากให้พม. ดูแลจำนวน 5 ราย ฝากไว้ในความดูแลของบ้านบางแค 2 รายและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของกทม. 7 ราย และที่ญาติรับกลับไปดูแลที่ศูนย์เอกชนรายอื่นอีก 3 ราย เหลืออีก 4 รายที่ยังติดต่อญาติไม่ได้ ซึ่งทางพร้อมจะทำการดูแลต่อไป

 

ขณะที่ "ศูนย์ดูแลคนชรา" ในเขตหนองจอก พบผู้สูงอายุ 21 ราย ญาติรับกลับแล้ว 5 ราย ไปอยู่ศูนย์เอกชนอื่นอีก 4 ราย ฝากไว้ที่บ้านบางแค 2 อีก 3 รายและอีก 2 รายรอญาติมารับซึ่งยังคงฝากไว้ที่ศูนย์เดิมอยู่ และยังติดต่อญาติไม่ได้อีก 7 ราย เบื้องต้น พม.ได้รับเข้ามาดูแลชั่วคราวแล้ว

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว

 อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยกับคมชัดลึกออนไลน์ ว่า สำหรับผู้สูงอายุที่ยังไม่สามารถติดต่อญาติได้ หากไม่สามารถติดต่อได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการการดูแล ของกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเบื้องต้นทางกรม ฯ ก็จะต้องดำเนินการจนถึงที่สุดในเรื่องของการติดตามหาญาติเพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุที่ถูกนำมาฝากไว้ให้ "ศูนย์ดูแลคนชรา" ทั้ง 2แห่งนี้ จะต้องมีญาติ ที่มีศักยภาพพอที่จะส่งเข้ามาดูแลในศูนย์ทั้ง 2 แห่งนี้ได้ เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว
แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วไม่สามารถติดต่อญาติได้และมีผู้สมัครตามหลักเกณฑ์ที่จะเข้าไปอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ของพม.หรือกทม. ก็จะรับเข้าไปอยู่ในศูนย์เพื่อทำการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ของท่านเหล่านั้น


ทั้งนี้จากสภาพของสถานประกอบการที่ ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีความเหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุอาจเนื่องมาจากความพร้อมของผู้ประกอบการ รวมถึงเหตุผลหลายอย่างของผู้ประกอบการ รวมถึงการขาดองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ และไม่ได้รับการอบรม ในการดูแลผู้สูงอายุ และจำนวนผู้ดูแลไม่เพียงพอต่อจำนวนของผู้สูงอายุ จึงปรากฏภาพที่ไม่เหมาะสม ออกมาให้เห็น เชื่อว่าญาติ ที่นำผู้สูงอายุมาไว้ในในสถานที่ทั้งสองแห่งนี้ คงไม่ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ จึงได้นำผู้สูงอายุมาฝากไว้ให้ดูแล

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว

ทั้งนี้จากกรณีที่เกิดขึ้นทางกรมกิจการผู้สูงอายุ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ คณะอนุกรรมการมาตรฐานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อหาทาง แก้ไขปัญหานี้ต่อไป ซึ่งหากประชาชนท่านใดพบเห็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่าตามที่ได้รับการประสานว่ามีสถานดูแลผู้สูงอายุแห่งหนี่ง เปิดให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้มาตรฐาน สถานที่มีสภาพทรุดโทรม ไม่เหมาะแก่การเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว พบว่าเป็นสถานประกอบการไม่มีชื่อ ตั้งอยู่ที่ย่านลาดกระบังและหนองจอก ภายในมีผู้สูงอายุอยู่หลายสิบราย มีทั้งผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้และติดเตียง รวมไปถึงผู้มีภาวะพึ่งพิง ทั้ง 2 แห่งมีเจ้าของเป็นบุคคลเดียวกัน ลักลอบเปิดให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาตมานาน 3 เดือน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท/คน/เดือน 

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว

อีกทั้งบุคลากรหรือผู้ให้บริการก็มิได้มีการขึ้นทะเบียน ไม่ได้รับการอบรมผู้สูงอายุจึงไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม ส่วนสถานที่ก็ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งไม่สะอาด และไม่ปลอดภัย จากการตรวจสอบไม่พบตัวผู้ประกอบการอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อหาการกระทำผิดในฐานเปิดสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาอื่นๆ

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว


ด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวว่า การเปิดสถานดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตกับกรม สบส. ส่วนผู้ให้บริการต้องขอขึ้นทะเบียนกับกรม สบส.เช่นกัน โดยสามารถยื่น        คำขอรับใบอนุญาต/ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ ได้ทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.esta.hss.moph.go.th  ได้ตลอด 24 ชม.

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว

สถานประกอบการจะต้องมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด  เช่น ด้านสถานที่ ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีการทำความสะอาด  มีระบบควบคุมพาหะนำโรคตามหลักสุขาภิบาล ด้านความปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล  อุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ มีเครื่องกระตุกหัวใจ มีระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่เหมาะสม มีพนักงานที่ได้รับการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ ด้านการให้บริการ ต้องมีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม มีการบันทึกและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาวะของผู้สูงอายุที่มารับบริการ

พนักงานจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

คนแก่จาก "ศูนย์ดูแลคนชรา" เถื่อนที่ตกค้าง เข้าสู่กระบวนการดูแลของพม.แล้ว

จึงขอฝากไปยังลูกหลานที่กำลังมองหาสถานดูแลผู้สูงอายุให้กับญาติผู้ใหญ่ของท่าน ควรเลือกสถานดูแลที่ได้รับใบอนุญาตจากกรม สบส. ควรมีการมาดูสถานที่ด้วยตนเอง ก่อนที่จะนำผู้สูงอายุเข้าพัก เพื่อความอุ่นใจว่าผู้สูงอายุจะได้รับบริการที่มีความปลอดภัย  ได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมจากบุคลากรที่ผ่านการอบรมอย่างถูกต้อง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ