ข่าว

นักวิชาการ ม.เกษตร ย้ำหมูกินได้ "โรค ASF" ไม่ติดต่อสู่คน

นักวิชาการ ม.เกษตร ตอกย้ำความมั่นใจผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย "โรค ASF" ป้องกันได้ต้องรู้และเข้าใจปรับปรุงฟาร์มป้องกันพาหะนำโรค เลี้ยงได้ อย่างปลอดภัย ย้ำโรค ASF ไม่ติดต่อสู่คน หมูกินได้ เน้นปรุงสุกก่อนทุกครั้ง การกินสุกๆดิบๆ ไม่ถูกสุขอนามัย เสี่ยงเป็นไข้หูดับ

หมูป่วย “โรค ASF” ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จะกินได้หรือไม่ นักวิชาการจากม.เกษตร มีรายละเอียดมาชี้แจง รวมทั้งข้อกังวล เสี่ยงเป็นไข้หูดับหรือไม่หากรับประทาน

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.หรือม.เกษตร) กล่าวว่า จากวิกฤติครั้งนี้หลายส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบคงมีความกังวลเรื่องของการเตรียมรับมือและการปฏิบัติตัว 

 

เบื้องต้นที่ต้องทำความเข้าใจมีประเด็นหลักๆ คือ การยอมรับและทำความเข้าใจกับโรคนี้เพื่อหาแนวทางแก้ไข อย่างกรณีโรค ASF หรือ African Swine Fever จริงๆไม่ใช่โรคอุบัติใหม่เหมือนกับโควิด-19 โรคนี้พบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1907 หรือเกิดขึ้นมาแล้วประมาณ 100 ปีมาแล้ว

“ เพียงแต่ว่าเพิ่งจะพบการแพร่ระบาดในเอเชียจีน เวียดนาม กัมพูชาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดพบในไทย โรคนี้มีความรุนแรง เมื่อสุกรได้รับเชื้อจะมีอาการป่วยและจะตายอย่างรวดเร็วภายใจ 5-7 วันหลังแสดงอาการ และแพร่เชื้อทางอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำเชื้อ และสามารถแพร่ระบาดในวงกว้าง ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน”ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

นักวิชาการ ม.เกษตร ย้ำหมูกินได้ \"โรค ASF\" ไม่ติดต่อสู่คน

 

ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคนี้ต้องรู้จัก พาหะนำโรค ก่อน สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่สามารถผ่านเข้าไปในโรงเรือน หรือฟาร์ม เป็น พาหะนำ “โรค ASF” ได้ทั้งหมด แม้จะไม่ได้มีอาการป่วยแต่สามารถนำเชื้อไปติดสุกรได้ ยกตัวอย่าง นก สามารถแพร่เชื้อจากโรงเรือนหรือฟาร์มไปสู่อีกที่หนึ่งที่ตั้งอยู่ห่างไกล หากปล่อยให้นกเข้าไปในโรงเรือน กินอาหารจากสุกรที่ป่วย และบินไปโรงเรือนหรือฟาร์มอื่นๆ ก็จะนำเชื้อไปแพร่กระจายต่อ 

“รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาทิ หนู สุนัข แมว ยุง แมลงสาบ แมลงวัน หรือแม้กระทั่งคนเองก็เป็นพาหะนำโรคได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ อาหารเหลือจากคน เพราะถ้าอาหารนั้นมีการปนเปื้อนเชื้อ ASF แล้วนำไปให้สุกรกิน จะทำให้สุกรมีโอกาสป่วยได้ สุดท้ายคือ กิจกรรมการขนส่งเคลื่อนย้าย หากรถขนส่งหมูมีการปนเปื้อนและเกษตรกรสัมผัส ก็จะติดเชื้อแล้วนำพาเชื้อมาสู่คอกสุกรได้”ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

นักวิชาการ ม.เกษตร ย้ำหมูกินได้ \"โรค ASF\" ไม่ติดต่อสู่คน

ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ  ให้ความมั่นใจว่าเกษตรกรรายย่อยจะสามารถกลับมาเลี้ยงสุกรได้ แต่ต้องปรับ รูปแบบการทำฟาร์มสุกรที่จะเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ มีการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีการแพร่ระบาด พร้อมเตรียมระบบการจัดการและแนวทางป้องกันที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ซึ่งการทำระบบ Biosecurity สามารถตอบโจทย์ได้ดี 

 

โดยเฉพาะในฟาร์มขนาดเล็ก มีการจราจรน้อยกว่ากลับทำได้ง่ายกว่าฟาร์มใหญ่ๆ และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีรูปแบบการเลี้ยงที่ตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรมากขึ้น ส่วนเรื่องของวัคซีนยังไม่ใช่ความต้องการลำดับต้นๆ เนื่องจากวัคซีนทำยาก และการระบาดรุนแรง สุกรส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อ จะสามารถสร้างภูมิคุมกันได้ แต่ฆ่าเชื้อไม่ได้ ส่วนมากสุกรตายก่อน เพราะฉะนั้นหลายประเทศจะใช้วิธีทำลาย

นักวิชาการ ม.เกษตร ย้ำหมูกินได้ \"โรค ASF\" ไม่ติดต่อสู่คน

 

นอกจากนี้ ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ ย้ำว่า ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้อ ASF จากเนื้อสุกร หรือไม่ ณ ตอนนี้ให้ยืนยันอีกเป็นร้อยครั้งก็ยังพูดคำเดิมว่าโรค ASF ไม่ติดต่อสู่คน ซึ่งมีการยืนยันโดยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แต่เพื่อความมั่นใจผู้บริโภคควรซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ มีตรามาตรฐานกำกับ

 

“สังเกตลักษณะของเนื้อสุกรต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ล้างเนื้อสุกรให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร และต้องปรุงในอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสระยะเวลาประมาณ 30 นาที หรือ 80 องศาเซลเซียสระยะเวลา 15 นาทีขึ้นไป งดรับประทานอาหารดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ เพราะนอกจากเชื้อ ASF แล้วก็ยังมีโรคอื่นๆ เช่น ไข้หูดับที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้”ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

ข่าวยอดนิยม