"ครม." ไฟเขียว งบกลาง 1 ,480 ล้าน ดันโครงการลดราคาสินค้า 3,000 จุด
"คณะรัฐมนตรี" อนุมัติงบกลาง 1,480 ล้าน ดันโครงการพาณิชย์ลดราคา ลดค่าครองชีพให้ประชาชน จัดจุดลดราคาสินค้า 3,000 แห่ง 76 จังหวัด
วันที่ (18 ม.ค.) "คณะรัฐมนตรี"มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้กระทรวงพาณิชย์(พณ.)เพื่อดำเนินโครงการพาณิชย์...ลดราคา ช่วยประชาชน ปี 2565 วงเงิน 1,480,000,000 บาท ตามที่ พณ. เสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงพาณิชย์ เห็นควรจัดทำโครงการพาณิชย์...ลดราคาช่วยประชาชนปี 2565 โดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้
1. วัตถุประสงค์
(1) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
(2) เพื่อประชาชนได้มีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันในราคาประหยัดได้มากขึ้น โดยเฉพาะเป็นการช่วยให้สามารถเข้าถึงประชาชน อันเป็นการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงได้
(3) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการบริโภคภาคครัวเรือน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น
(4) เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
2. วิธีดำเนินการ
ดำเนินการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้แก่ประชาชนในราคาประหยัด ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน โดยมีรายละเอียดในการดำเนินงานดังนี้
2.1 กิจกรรมบริหารจัดการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางจำหน่าย โดยจัดหาสถานที่จำหน่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น รถยนต์ พนักงานขับรถ พนักงานขาย เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ป้ายราคา ป้ายประชาสัมพันธ์ ประจำจุดจำหน่าย พนักงานขนสินค้า เป็นต้น เพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพผ่านช่องทางดังนี้
(1) จำหน่ายผ่านบริเวณร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น หรือตลาด พื้นที่สาธารณะหรือลานอเนกประสงค์ และสถานีบริการน้ำมัน รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 จุด ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภูมิภาค 76 จังหวัด มีรายละเอียด ดังนี้
(1.1) จัดหาจุดจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่ประชาชน
(1.2) จัดหาพนักงานขายของประจำจุดจำหน่าย
(1.3) จัดหาสถานที่จัดเก็บสินค้า เพื่อรอกระจายไปยังจุดจำหน่าย และจัดหารถยนต์หรือรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าจากสถานที่จัดเก็บสินค้า ไปยังสถานที่จำหน่าย
(1.4) จัดหาพนักงานปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินค้า อาทิ พนักงานกำกับดูแลและดำเนินการสั่งสต๊อกสินค้า พนักงานควบคุมดูแลและจัดทำสต๊อกสินค้าที่อยู่ในสถานที่จัดเก็บสินค้า พนักงานรักษาความปลอดภัยสถานที่จัดเก็บสินค้า และพนักงานบริหารจัดการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลง
(1.5) จัดหาอุปกรณ์สนับสนุนสำหรับจำหน่ายสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการจำหน่ายสินค้า และลดการใกล้ชิดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น ถังน้ำแข็ง เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ถุงมืออนามัย หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฉีดฆ่าเชื้อ ป้ายแสดงสัญลักษณ์ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เครื่องขยายเสียง (โทรโข่ง) เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ตะกร้า เชือกกั้น เครื่องคิดเลขจำหน่ายสินค้า เครื่องชั่งสินค้า เป็นต้น
(1.6) ออกแบบและจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เช่น ป้ายไวนิล หรือสติ๊กเกอร์ เป็นต้น พร้อมติดตั้งในบริเวณที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
(1.7) จัดทำป้ายแสดงราคา
(2) จำหน่ายผ่านรถ Mobile จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คัน ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีรายละเอียดดังนี้
(2.1) จัดหารถยนต์ 4 ล้อ (รถโมบาย) พร้อมพนักงานขับรถ เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คัน และพนักงานขายของประจำพาหนะ
(2.2) จัดหาสถานที่จัดเก็บสินค้า เพื่อรอกระจายไปยังพาหนะที่เข้าร่วมโครงการฯ และจัดหารถยนต์หรือรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าจากสถานที่จัดเก็บสินค้า ไปยังสถานที่ที่พาหนะจอดซื้อหรือขึ้นของ
(2.3)จัดหาพนักงานปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินค้า อาทิ พนักงานกำกับดูแลและดำเนินการสั่งสต๊อกสินค้า พนักงานควบคุมดูแลและจัดทำสต๊อกสินค้าที่อยู่ในสถานที่จัดเก็บสินค้า พนักงานรักษาความปลอดภัยสถานที่จัดเก็บสินค้า และพนักงานบริหารจัดการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลง
(2.4) จัดทำอุปกรณ์สำหรับจำหน่ายสินค้าประจำพาหนะแต่ละคัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการจำหน่ายสินค้า และลดการใกล้ชิดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น ถังน้ำแข็ง เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ถุงมืออนามัย หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฉีดฆ่าเชื้อ ป้ายแสดงสัญลักษณ์ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เครื่องขยายเสียง (โทรโข่ง) เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ตะกร้า เชือกกั้น เครื่องคิดเลขจำหน่ายสินค้า เครื่องชั่งสินค้า เป็นต้น
(2.5) ออกแบบและจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ อาทิ ป้ายไวนิล สติ๊กเกอร์ พร้อมติดตั้งด้านข้างพาหนะในบริเวณที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
(2.6) จัดทำป้ายแสดงราคา
2.2 กิจกรรมการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เพื่อจัดหาและจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพตามชนิด ปริมาณและราคาตามที่กรมฯ กำหนด เช่น สินค้าเกษตร เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น จากสมาคม/ผู้ค้าปลีก/ค้าส่ง/Supplier ในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายในจุดจำหน่าย
2.3 กิจกรรมการประชาสัมพันธ์ เพื่อดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในวงกว้างผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นการบริโภค
3. ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน
4. งบประมาณ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,480,000,000 บาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และจากภาวะการปรับราคาสินค้าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโรคระบาดจากสัตว์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อให้ประชาชนได้มีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันในราคาประหยัดได้มากขึ้น อันเป็นการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงได้
รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการค้าภายในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ แต่เนื่องจากงบประมาณของกรมการค้าภายในมีไม่เพียงพอในการดำเนินการ กรมการค้าภายในจึงขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการพาณิชย์...ลดราคา ช่วยประชาชน ปี 2565