ข่าว

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ส่งเสริมเกษตรกรผลิต "เมล็ดพันธุ์" ไว้ใช้เอง

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ส่งเสริมเกษตรกรผลิต "เมล็ดพันธุ์" ไว้ใช้เอง

15 ม.ค. 2565

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ส่งเสริมเกษตรกรผลิต "เมล็ดพันธุ์"ไว้ใช้เอง ก่อนขยายผลผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เมื่อมีความชำนาญสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้คุณภาพ ก็สามารถนำมาจำหน่ายคืนให้กับศูนย์ได้

ข้าวคือชีวิตของคนไทย เราเกี่ยวพันกับข้าว แม้จะไม่ได้ปลูก ไม่ได้ค้าข้าว ก็ต้องกินข้าวทุกคน เมื่อกล่าวถึง การผลิตแล้ว ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ที่ปลูกข้าวให้คนคนไทยรับประทาน แต่กลับได้รับผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ทั้งเรื่องราคาข้าว และต้นทุนการผลิตสูง

 

กรมการข้าวถือเป็นหน่วยงานหลัก ศึกษาวิจัยสำหรับข้าวในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานส่วนกลางที่ปฏิบัติงานอยู่ตามส่วนภูมิภาค ดังเช่น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ที่มีการส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตข้าวในปัจจุบันให้ได้ผลผลิตที่ดีโดยการผลิตเป็น "เมล็ดพันธุ์" ซึ่งจะได้ผลตอบแทนสูง สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

นายกริชชา จึงเจริญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี กล่าวว่า ขั้นตอนในการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกร ต้องหาเกษตรกรที่มีความพร้อมทุกอย่าง ใจพร้อม กำลังพร้อม เมื่อได้เกษตรกรที่มีกำลังพร้อมแล้ว ในเรื่องของการทำ"เมล็ดพันธุ์" เกษตรกรต้องเรียนรู้ในการกำจัดพันธุ์ปนในการ"ผลิตเมล็ดพันธุ์" ลักษณะประจำพันธุ์ของแต่ละพันธุ์ที่ปลูก โดยการจำกัดข้าวประมาณ 4 ขั้นตอน

 

เริ่มจากระยะแตกกอ ระยะออกรวง พอช่วงออกรวงก็ดูว่าลักษณะรวงข้าวเป็นยังไง คอสั้น คอยาว เมล็ด ระยะโน้มรวง สุดท้ายคือก่อนเก็บเกี่ยว ก่อนเก็บเกี่ยวศูนย์จะมาตรวจแปลงอย่างเป็นทางการ ให้เกษตรกรเก็บพันธุ์ปนออกให้หมดแล้วก็มาตรวจดู ถ้ามีพันธุ์ปนเกินมาตรฐานก็ให้เกษตรกรนำไปจำหน่ายที่โรงสี ถ้าตรวจดูแล้ว ผ่านมาตรฐานของกรมการข้าว ก็ให้เก็บเกี่ยวไปจำหน่ายที่ศูนย์ เพื่อชั่งน้ำหนักและเข้าเครื่องอบต่อไป 
 

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ส่งเสริมเกษตรกรผลิต \"เมล็ดพันธุ์\" ไว้ใช้เอง

สำหรับศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ได้เข้ามาส่งเสริมให้รวมกลุ่มในรูปแบบการผลิต"เมล็ดพันธุ์"โดยเริ่มจากการผลิตภายใต้ศูนย์ข้าวชุมชน โดยเริ่มจากส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เมื่อมีความชำนาญ สามารถผลิต"เมล็ดพันธุ์"ที่ได้คุณภาพ ก็สามารถนำมาจำหน่ายคืนให้กับศูนย์ได้

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ส่งเสริมเกษตรกรผลิต \"เมล็ดพันธุ์\" ไว้ใช้เอง

ซึ่งราคาขายคืน ศูนย์จะประชุมกำหนดราคาตั้งแต่เริ่มต้น ว่าราคาปีนี้จะซื้อเท่าไหร่แล้วแต่ช่วงเวลาซึ่งจะสูงกว่าราคาท้องตลาด10-20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากทำเป็นเมล็ดพันธุ์ ไม่ได้ทำเป็นข้าวสำหรับบริโภค จึงราคาสูงกว่า เกษตรกรก็จะมุ่งมั่นในการเก็บพันธุ์ปน การดูแลรักษา ก็จะไม่เหมือนปลูกข้าวอื่น ๆ ทั่วไป ราคาถึงต่างกัน ตรงนี้ทำให้เกษตรกรมีขวัญกำลังใจในการผลิต"เมล็ดพันธุ์"ให้ศูนย์ และเกษตรกรกลุ่มนี้ก็มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ทำทุกครั้งส่วนใหญ่จะผ่านหมด ผ่านมาตรฐานของศูนย์หมด ศูนย์ก็จะซื้อคืนทุกครั้ง 

 

นางสาวเพ็ญรัตน์ สวัสดิ์รักษา ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นเกษตรกรที่จากเดิมประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ ขาดรายได้ ราคาขายต่ำกว่าทุน แต่เมื่อได้มีโอกาสรวมกลุ่มผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว" ภายใต้คำแนะนำและการส่งเสริมของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ส่งผลให้วันนี้สมาชิกภายในกลุ่มสามารถผลิตข้าวได้คุณภาพมาตรฐาน มีความเข้มแข็ง สามารถต่อรองราคากับท้องตลาดได้และมีตลาดรองรับที่แน่นอน

 

นางสาวเพ็ญรัตน์ สวัสดิ์รักษา ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง เล่าว่า จุดเริ่มต้นจากเดิมทำนาเป็นอาชีพหลัก สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ต่อมาประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ทำนาไม่มีกำไร ก็เลยหาหนทางให้มีเงินทุน มีราคาที่แน่นอน และมีคุณภาพดี ก็เลยติดต่อไปที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี

 

หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมให้องค์ความรู้ โดยเริ่มจากทดลองปลูกข้าวเป็นเมล็ดพันธุ์จำนวน 20 ไร่ ทำตามหลักคำแนะนำทั้งเรื่องการเก็บพันธุ์ปน ดูลักษณะข้าวแต่ละพันธุ์ จนประสบความสำเร็จต่อยอดพื้นที่เป็น 200 ไร่ ส่งผลให้วันนี้เกษตรกรมีความประณีตในการทำนา ในเวลาที่ผ่านมา 10 กว่าปี เกษตรกรมีฐานะทางการเงินดีขึ้นจากการขายเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น 5,000-7,000 บาทต่อปี

 

ด้านนายโชติภัทร พวงผิว รองประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง เปิดเผยว่า ขั้นตอนการทำแปลงของสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง คือใช้เมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรีมาหว่าน ช่วงแตกกอก็ดูว่า ลักษณะใบอันไหนแตกต่างจากพันธุ์หลักที่ปลูกหรือไม่ ถ้ามีต้องกำจัดทิ้งให้หมด และช่วงที่สำคัญที่สุดคือ ช่วงระยะก่อนเก็บเกี่ยวจะเห็นชัดมาก ลักษณะ ใบ คอรวง ลักษณะเม็ดที่แตกต่างกัน ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรีมาตรวจแปลงอีกครั้ง

 

ชีวิตชาวนาไทย โดยปกติมักจะได้ยินคำกล่าวว่า ชาวนาคือกระดูกสันหลังของประเทศชาติ และในน้ำมีปลาในนามีข้าว  คงเห็นได้ชัดจากเกษตรกรศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวทุ่ง ที่มีการสืบทอดอาชีพการทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆมาใช้ในการทำนา ซึ่งปัจจุบันข้าวไม่เพียงแต่เป็นอาหารหลักของประเทศเท่านั้น แต่ตอนนี้ข้าวได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย ดังนั้น ชาวนาจึงเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการสร้างข้าวไทยให้มั่นคง ยั่งยืน