“ที่ผ่านมาการปิดประเทศ Lock down นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน หรือ “เรียนออนไซต์” On-site ดังนั้น การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา"
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการเสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน”
การมองย้อนอดีตเพื่อหาข้อสรุปและนำมาเป็นบทเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าลืมว่า อดีตแก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันต่างหากที่เราต้องทำให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดีเช่นกัน
ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาต้องบอกว่า เราเดินอยู่ในความมืด ขาดความรู้และประสบการณ์ในการแก้ปัญหาและการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์ดังกล่าว จะโทษเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ผิด ก็ไม่ใช่เหตุ เพราะว่า เราไม่รู้ ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด แต่สำหรับปัจจุบัน เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุและข้อผิดพลาดดังกล่าวแล้วก็ควรรีบแก้ไข
การสั่งการแบบเหมาเข่ง ไม่สะเด็ดน้ำ ผู้ปฏิบัติไม่สามารถปฏิบัติได้ อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เป็นอีกเรื่องที่ควรพิจารณา
ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ชอบสั่งการแบบขอไปที เหมือนผลักภาระให้พ้นตัว ไม่มีการวิเคราะห์สถานการณ์ และปรับเปลี่ยนปริมาณงาน และเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีแต่สั่งให้ทำ ไม่เคยสั่งให้เลิก งานเลยพอกเป็นดินพอกหางหมูอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครนอกจาก “ครู”
การที่ท่านจะโทษว่า การปิดประเทศ การปิดโรงเรียน ดูจะเหมือนเป็นผู้ร้าย เป็นจำเลยของสังคม ก็คงจะไม่ใช่ทั้งหมด เมื่อในขณะนั้นสังคมและผู้คนต่างตื่นกลัว ไม่กล้าแม้จะออกจากบ้าน หากท่านเปิดเรียนก็คงไม่มีผู้ปกครองคนไหนยอมให้ลูกมาเรียน
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีการฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน และการที่ผู้ปกครองต้องแบบรับภาระความไม่พร้อมของการจัดการเรียนการสอน On-line ,Om-air ,On-hand ,On- demand ทั้ง 4 On นี้ภาระส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ผู้ปกครองที่ต้องกลายเป็นครูสอนหนังสือให้กับลูกของตัวเอง
มีเพียง "เรียนออนไซต์" On-site เท่านั้นที่ผู้ปกครองไม่ต้องเกี่ยวข้องกับนักเรียนเลย เมื่อจำเป็นต้องแบกรับภาระการสอนหนังสือให้กับลูกของตัวเองเป็นเวลานาน ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจ ที่แย่ลง จึงให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่อยากให้ลูกไปโรงเรียน
ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ จากการเสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” การเรียนการสอนแบบ On-line กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาทุกคน แต่ในคราวเดียวกัน การเรียนการสอนแบบออนไซต์ กลับเป็นพระเอกที่ใครๆ ก็ต้องการ
สังคมไทยมักมีเหตุการณ์แบบนี้ให้เห็นบ่อยครั้ง เป็นสังคมที่ขาดความมั่นใจในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สังคมที่ต้องมีผู้ร้าย ต้องมีพระเอก คล้ายๆ กับที่เคยเห็นอยู่เสมอในกงล้อประวัติศาสตร์ ที่มีคนกลุ่ม เรียกร้องให้ คนอีกกลุ่มหนึ่ง ออกมาช่วยแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวัน
ขอเวลาอีกไม่นาน
ชัยวัฒน์ ปานนิล...เรื่อง/ทีมกราฟิกคมชัดลึก...ภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง