วันที่(14 ม.ค. ) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.อีกครั้ง เพื่อขอให้สอบเพิ่มเอาผิด "รมช.ประภัตร โพธสุธน" ซึ่งกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ผิดพลาดล้มเหลว ปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือ ASF เป็นเหตุให้หมูขาดตลาด ทำให้ราคาแพงในปัจจุบัน
ทั้งนี้เนื่องจาก "นายประภัตร โพธสุธน" มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลกรมปศุสัตว์โดยตรง ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 1662/2562 ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มอบอำนาจหน้าที่ให้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีปัญหาความผิดพลาด ล้มเหลวในการบริหารจัดการเกี่ยวกับกรมปศุสัตว์เกิดขึ้น ย่อมต้องส่งผลถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลที่จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
การปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ของกรมปศุสัตว์ ทำให้หมูของเกษตรกรผู้เลี้ยงรายเล็ก รายกลาง ล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้หมูขาดตลาด เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้หมูแพง แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ออกมาจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งรัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็เพิกเฉย ยังคงเลี่ยงบาลีว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลการเกิดโรคระบาดถูกเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูออกมาเปิดโปงว่ามีเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติเงินเยียวยาให้เกษตรกรแล้วหลายรอบ
ปัญหาการปกปิดการการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีผลประโยชน์ของชาติของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งมี พรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและควบคุมปัญหาโดยเฉพาะในท้องที่ใดเมื่อเห็นสมควรให้มีการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ชนิดใด อธิบดีปศุสัตว์ก็มีอำนาจที่จะประกาศกําหนดให้ท้องที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนของท้องที่ต้องมีการทําเครื่องหมายประจําตัวสัตว์
สําหรับสัตว์หรือซากสัตว์ชนิดนั้นหรือรัฐมนตรีเกษตรฯสามารถที่จะประกาศกําหนดให้ท้องที่นั้น ๆ หรือทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นเขตปลอดโรคระบาด หรือเขตกันชนโรคระบาดสําหรับโรคนั้นในสัตว์นั้นได้เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดได้ รวมทั้งยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 396 เรื่องการห้ามทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็นในหรือริมทางสาธารณะอีกด้วย
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปรากฏการล้มตายของสุกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กลับไม่ปรากฏว่ากรมปศุสัตว์ หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล จะใช้อำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด เช่นนี้ย่อมถือได้ว่า เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อันเข้าข่ายความผิดที่ ป.ป.ช.จะต้องเข้าไปดำเนินการไต่สวน สอบสวนเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง