ข่าว

แม่ญี่ปุ่นยกลูกให้คนอื่น หลังพบ "ผู้บริจาคสเปิร์ม" เป็นคนจีน โกหกจบม.ดัง

หญิงญี่ปุ่นนอนกับ "ผู้บริจาคอสุจิ" 10 ครั้งเพื่อตั้งท้อง รู้ภายหลังเจ้าของน้ำเชื้อเป็นชาวจีน ไม่ได้จบสถาบันชั้นนำตามที่บอกไว้ เดินหน้าฟ้องและหาพ่อแม่บุญธรรมรับเลี้ยงลูกแทน

 

คดีแปลกจากญี่ปุ่น เรื่องราวของหญิงคนหนึ่ง ที่สื่อให้รายละเอียดแค่ว่าเป็นชาวกรุงโตเกียว อายุราว 30 ปี ตัดสินใจหาพ่อแม่บุญธรรมให้ลูกคนที่สองหลังคลอด เด็กกลายเป็นลูกที่เธอไม่ต้องการ หลังจากรู้ว่าผู้บริจาคสเปิร์ม โกหกสถานภาพสมรส เชื้อชาติ และการศึกษา ล่าสุด เธอกำลังยื่นฟ้องผู้บริจาคน้ำเชื้อ  เชื่อว่าเป็นคดีลักษณะนี้คดีแรกในญี่ปุ่น

 

โตเกียว ชิมบุน  รายงานว่า  สตรีคนดังกล่าวกับสามีอยากมีลูกคนที่สอง  แต่หลังจากพบว่าสามีมีความผิดปกติเกิดจากพันธุกรรมบางอย่าง อันอาจส่งต่อไปถึงลูกได้  จึงหันไปหาผู้บริจาคอสุจิผ่านกลุ่มสมาชิกบนสื่อสังคมออนไลน์  เธอพบชายวัย 20 ปีเศษตรงความต้องการ เขาอ้างว่าจบจากมหาวิทยาลัยแถวหน้าในญี่ปุ่น เป็นชาวญี่ปุ่น และ โสด  ทั้งสองนัดพบและมีเพศสัมพันธ์ 10 ครั้ง และประสบความสำเร็จในเดือนมิถุนายน 2562 หรือในเวลา 3 เดือน

 

ต่อมาเธอพบว่า แท้จริงแล้ว  ผู้บริจาคน้ำเชื้อเป็นชาวจีน  แต่งงานแล้ว และไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยเกียวโตอย่างที่อ้าง แต่ตอนที่รู้ความจริง สายเกินไปที่จะทำแท้ง  ปัจจุบัน ลูกที่เธอไม่ต้องการ อยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว  ส่วนผู้เป็นแม่ กำลังยื่นฟ้องผู้บริจาคอุสจิ เรียกค่าชดเชย 130 ล้านเยน ( ประมาณ38 ล้านบาท ) ฐานก่อความกระทบกระเทือนทางจิตใจ  เธออ้างว่าชายคนนี้จงใจให้ข้อมูลไม่ตรงความเป็นจริง เพราะหวังมีเซ็กส์กับเธอ 

 

ทนายของสตรีคนดังกล่าว แถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่าในญี่ปุ่น  ไม่มีระบบกฎหมายหรือระบบสาธารณะสำหรับการบริจาคสเปิร์ม ลูกความของเขา ได้รับความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจจากเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดสินใจไม่เลี้ยงลูกที่เกิดมา 

 

 

ขณะที่ มิซูโฮ ซาซาคิ เจ้าหน้าที่สวัสดิภาพเด็กในญี่ปุ่น ตำหนิคุณแม่รายนี้ว่า ตื้นเขิน มองเด็กเป็นเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง กระนั้น เธอคิดว่าการให้เด็กอยู่กับพ่อแม่บุญธรรมที่พร้อม  น่าจะดีสำหรับเด็กมากกว่า 

 


ญี่ปุ่น มีกฎหมาย  “สิทธิที่จะรู้”  เด็กที่เกิดจากผู้บริจาคสเปิร์มมีสิทธิ์ตามกฎหมายหากต้องการรู้ว่าผู้บริจาคเป็นใคร ทำให้ผู้บริจาคจำนวนมากหาช่องทางอื่นในการบริจาคเพื่อรักษาความลับไม่เปิดเผยตัวตน อีกด้าน ก็ทำให้การแสวงหาผู้บริจาคน้ำเชื้อ เป็นเรื่องยากสำหรับบุคคลหรือสามีภรรยา แต่ไม่ยากสำหรับการใช้สังคมออนไลน์เป็นสื่อกลาง การบริจาคน้ำเชื้อผ่านช่องทางไร้ระเบียบควบคุม กำลังเป็นกระแสเติบโตในญี่ปุ่น ประเมินว่ามีเด็กกว่า 1 หมื่นคน ถือกำเนิดจากน้ำเชื้อของบุคคลที่สาม 

 

สถาบันวิจัย  Mirai Life ในญี่ปุ่น เพิ่งเปิดธนาคารสเปิร์มแห่งแรกในประเทศเมื่อปีที่แล้ว  นายฮิโรชิ โอคาดะ ผู้อำนวยการสถาบัน บอกเวบไซต์ เจแปน อินไซเดอร์ ว่า การผสมเทียมหรือหาทางมีบุตรแบบทำด้วยตนเอง  มีความเสี่ยงสูงและอันตราย อสุจิที่ได้อาจมีเชื้อโรคติดมา และไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นของผู้บริจาคจริงหรือไม่  เรื่องบ้าบอเกิดขึ้นได้เช่นมารู้ตอนเด็กเกิดมาแล้วว่าน้ำเชื้อไม่ได้มาจากคนญี่ปุ่น โอคาดะกับทีมงาน ยืนยันว่า เวบไซต์ที่ให้บริการบริจาคสเปิร์มกว่า 140 เวบไซต์นั้น 96.4% ไม่ปลอดภัย จำนวนมากเป็นแผนหาประโยชน์จากคนที่กำลังแสวงหาผู้บริจาคเหมาะสม 
 

ข่าวยอดนิยม