ข่าว

“ประภัตร” โต้ข่าว เมินโรค ASF จี้ปศุสัตว์เร่งตรวจสอบฟาร์มหมูและทำลายเชื้อ

“ประภัตร” โต้ข่าว เมินโรค ASF จี้ปศุสัตว์เร่งตรวจสอบฟาร์มหมูและทำลายเชื้อ

13 ม.ค. 2565

“ประภัตร” ย้ำห่วงใยผู้เลี้ยงสุกร ยืนยันไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาการระบาดของโรค ASF และราคาหมูแพง มอบหมายกรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสุกร หากพบเชื้อโรคให้เข้าควบคุมและทำลายเชื้อโรคตามหลักวิชาการทันที

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจง โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ณ หอประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี อ.เมือง จ.อุดรธานี ว่า จากสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรที่มีราคาแพง ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงพบการระบาดของ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด 

 

“ประภัตร” โต้ข่าว เมินโรค ASF จี้ปศุสัตว์เร่งตรวจสอบฟาร์มหมูและทำลายเชื้อ

นายประภัตร กล่าวว่า เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสกัดกั้นและควบคุมโรคดังกล่าว คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบกลาง จำนวน 574 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามหลักและขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ให้กับ ผู้เลี้ยงสุกร รายเล็กและรายย่อย และได้กำหนดมาตรการการควบคุมอย่างเข้มข้น โดยได้ส่งชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น 

 

“ประภัตร” โต้ข่าว เมินโรค ASF จี้ปศุสัตว์เร่งตรวจสอบฟาร์มหมูและทำลายเชื้อ


        
นอกจากนี้ ในส่วนของการแก้ไขเนื้อสุกรมีราคาแพง ซึ่งจากข้อมูลสุกรรายสัปดาห์ พบว่า ในปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ปัจจุบัน (ข้อมูลสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565) มีจำนวนลูกสุกรเข้าเลี้ยงยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน  โดย กรมปศุสัตว์ได้เตรียมมาตรการที่จะเพิ่มแม่สุกรให้กับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านสัตวบาล เพื่อผลิตลูกสุกรเข้าสู่ระบบคู่ขนานกันไปด้วย จึงเชื่อมั่นว่าจากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และระยะยาวนั้น จะสามารถเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคได้แน่นอน 
 

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ทราบว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องการกลับมาเลี้ยงสุกรรอบใหม่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะต้องมีการสแกนพื้นที่เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีความปลอดภัย หรือมีความเสี่ยงต่อพี่น้องเกษตรกรอยู่หรือไม่ จากนั้นจะมีการคัดกรองตัวเกษตรกร พร้อมกับตรวจสอบสภาพความพร้อมและความเหมาะสมของฟาร์มในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มให้มีความปลอดภัย ด้านการควบคุมโรคที่สูงขึ้น เช่น GFM หรือ GAP กรมปศุสัตว์จึงจะสามารถอนุญาตให้เกษตรกรกลับเข้าสู่อาชีพในครั้งต่อไปได้ 


        
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า จากจำนวน ผู้เลี้ยงสุกร รายเล็กและรายย่อย ทั้งประเทศ มีรวมกันถึงกว่า 185,000 ราย โดยในภาคอีสานนี้มี ผู้เลี้ยงสุกร รายย่อยถึงประมาณ 77,000 ราย อีกทั้งยังมีค่าเฉลี่ยของอัตราการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 20 - 22 กิโลกรัม/คน/ปี ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจ โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” มีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ สามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต

 

“ประภัตร” โต้ข่าว เมินโรค ASF จี้ปศุสัตว์เร่งตรวจสอบฟาร์มหมูและทำลายเชื้อ

 

โครงการดังกล่าวไม่ได้มีเพียงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเท่านั้น แต่มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ทั้งเมนูอาชีพด้านปศุสัตว์ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุน สุกรขุน ไก่ไข่ จิ้งหรีด เป็ดไข่ และแพะขุน เมนูอาชีพด้านพืช สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกฟักทอง ฟักเขียว กระชายขาว และข้าวโพด และเมนูอาชีพด้านประมง สนับสนุนให้มีการเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาทับทิม ปลาดุก และกุ้ง 


        
ทั้งนี้ หากเกษตรที่สนใจ สามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน จำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย 


        
รมช. เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรคในระยะที่ผ่านมานั้น หลัก ๆ แล้วเป็นค่าชดเชยเพื่อทำลายสุกรแทบทั้งสิ้น ซึ่งในขั้นตอนของการดำเนินการ กรมปศุสัตว์ จะมีการตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่เพื่อประเมินค่าความเสียหายและค่าชดเชยสำหรับเกษตรกรทุกราย สำหรับกรณีที่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยบางราย ได้มีการทำลายสุกรไปแล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ของ กรมปศุสัตว์ ไม่ได้สั่งนั้น ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชยดังกล่าว จะขอรับเรื่องนี้ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าจะสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง 

 

“ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องการระบาดของโรค ASF นี้ แต่การออกมาพูดนั้นจะต้องได้รับการยืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้ เมื่อมีการตรวจยืนยันว่าพบเชื้อที่ฟาร์มไหน กรมปศุสัตว์จะมีมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น รวมถึงการทำลายเชื้อตามหลักวิชาการ และจะต้องมีการพักคอก แล้วหยุดเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าวไปจนกว่าจะมีการตรวจสอบ หรือประเมินความเสี่ยงแล้วว่ามีความปลอดภัย จึงจะสามารถลงเลี้ยงใหม่ได้อีกครั้ง” นายประภัตร กล่าวย้ำ

 

อย่างไรก็ตาม ตนเองในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ แม้ว่าจะไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) และคณะกรรมการพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ก็ตาม แต่จะช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพคู่ขนานอื่นให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป